กรุงเทพฯ 4 พ.ค.-ก.พลังงาน เตรียมแนวทางลดค่าครองชีพประเดิมด้วยค่าไฟฟ้า ต่ออายุลด Demand Charge อีก 3 เดือน เร่งรัดลงทุน มองภาพรวมดีมานด์ไฟฟ้าหากชะลออาจกระทบปริมาณนำเข้าแอลเอ็นจีเสรี
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน กำลังพิจารณา ตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรี ที่ให้ทุกกระทรวงเตรียมความพร้อม สำหรับมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทั้งเรื่องการลดค่าไฟฟ้า และอื่นๆ ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี ถือเป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง โดย ในส่วนนี้ก็ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ,บมจ.ปตท.ร่วมพิจารณาทั้งการช่วยเหลือประชาชน และเร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ
ล่าสุด นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาต่ออายุ การขยายมาตรการผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ หรือครอบคลุมประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทที่ 3 ประเภทที่ 4 ประเภทที่ 5 ประเภทที่ 6 และประเภทที่ 7 จากเดิมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวต้องเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ซึ่งคิดจากค่าไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ มาเป็นการเสียค่าไฟฟ้าตามจริงในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซี่งมาตรการนี้ สิ้นสุดการช่วยเหลือ เดือน เม.ย. 2564 คาดว่าน่าจะต่ออายุอย่างน้อย 3 เดือน หรือ เดือน พ.ค.-ก.ค. 64 ซึ่งกรณีนี้ก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงแรมที่ได้รับผลกระทบอีกระลอกหนึ่งจากการระบาดรอบนี้
“กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาทุกแนวทางว่าจะมีมาตรการลดค่าครองชีพ เพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบของประชาชนได้อย่างไร โดยจะเร่งประชุมหาข้อสรุปโดยเร็ว โดยเฉพาะต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง รมว.พลังงาน จึงสั่งให้ต่ออายุ ยกเว้น Demand Charge ไปก่อน” นายกุลิศกล่าว
นายกุลิศ กล่าวด้วยว่า ในด้านความต้องการพลังงานโดยรวมก็มีโอกาสที่จะชะลอลง ในช่วงนี้ และอาจส่งผลไปยังการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตไฟฟ้า และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ในส่วนของรายใหม่ที่จะมีการนำเข้า โดยยอมรับว่า ในช่วงนี้ กระทรวงฯเน้นย้ำเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยและรับมือสถานการณ์โควิด-19 ร่วมกับรัฐบาล จึงยังไม่ได้พิจารณาเรื่องปริมาณนำเข้าแอลเอ็นจีในส่วนของรายใหม่
ส่วนการพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2564 วงเงิน 6,500 ล้านบาท นั้น ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้มีผู้เสนอขอใช้เงินมาร่วมถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ในส่วนของ 7 กลุ่ม งาน ซึ่ง กลุ่ม งานที่ 1-6 เห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ กลุ่มงานตามกฎหมาย วงเงิน 200 ล้านบาท, กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงิน 500 ล้านบาท,กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ 355 ล้านบาท ,กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร วงเงิน 200 ล้านบาท ,กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร วงเงิน 450 ล้านบาท และกลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ วงเงิน 2,200 ล้านบาท ส่วน กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่ม ที่ 7 กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก วงเงินสนับสนุน 2,400 ล้านบาท เนื่องจากปิดข้อเสนอ ช้าที่สุด คือ วันที่ 31 มีนาคม จึงอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยภาพรวมจะอนุมัติเสร็จสิ้นในเดือน พฤษภาคม
“ ยอมรับว่า โควิด-19 อาจจะกระทบ ถึงการรับเหมาก่อสร้างในส่วนที่หน่วยงานต่างๆได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์ฯปี 64 บ้าง ซึ่งคงจะมาพิจารณาขยายเวลาในภายหลัง โดยในส่วนของการอนุมัติ ได้มีการประชุมออนไลน์และจะอนุมัติเสร็จสิ้นทุกกลุ่มในเดือนพ.ค.นี้และเร่งลงนามในสัญญา โดยก็หวังว่า เม็ดเงิน 6.5 พันล้านบาทจะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง” นายกุลิศ กล่าว -สำนักข่าวไทย