กรุงเทพฯ 21 เม.ย.- รมว.พาณิชย์ เผยยอดส่งออกเดือน มี.ค. ยังเติบโตต่อเนื่องสูงถึงกว่าร้อยละ 8 แม้เจอปัญหาโควิดระลอกใหม่ ปรับเปลี่ยนแนวทางเจรจาการค้าออนไลน์ หลัง 3 เดือนแรกของปี กวาดเงินเข้าประเทศกว่า 5,280 ล้านบาท ตั้งเป้าตลอดปี 64 กว่า 16,000 ล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานมอบนโยบายให้กับทีม Salesman จังหวัดในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Webinar ภายใต้โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Salesman จังหวัด Go-inter ณ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ถนนรัชดาภิเษก) กรุงเทพฯ โดยการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และมีความเห็นตรงกันว่า การส่งออกของไทยน่าจะพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และกำลังทะยานขึ้น ตัวเลขการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ หลังจากที่เผชิญกับวิกฤติโควิด สงครามการค้า และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตัวเลขการส่งออกที่ต่ำสุดช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ติดลบร้อยละ 22 แต่หลังจากนั้นก็ติดลบน้อยลงมาตลอด จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 64 แม้ภาพรวมติดลบ แต่หากเอาทองคำ ยุทธปัจจัย และน้ำมันออก เหลือแต่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ถือว่าตัวเลขยังเป็นบวกอยู่ ดังนั้น เดือนมีนาคม คาดการณ์ว่าตัวเลขจะเป็นบวกไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ได้
ทั้งนี้ สินค้าเกษตร สินค้าอาหาร เครื่องใช้ในบ้าน และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ผลิตผลทางการเกษตรที่ยังมีอนาคต โดยอาหารนั้นประกอบด้วย ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป และอาหารกระป๋อง มีการขยายตัวที่ดี ตลาดสำคัญที่มีศักยภาพ รองรับสินค้าของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อาเซียน CLMV และตลาดในทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวได้ดี แม้การท่องเที่ยวติดปัญหาอุปสรรค การส่งออกยังเดินหน้าต่อไปได้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญต่อไป ภายใต้ความร่วมมือทำงานหนักระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ทั้งทีมเซลล์แมนจังหวัดและทีมเซลล์แมนประเทศ
อย่างไรก็ตาม การจับคู่ธุรกิจด้วยระบบออนไลน์ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการ มีผลช่วยให้ยอดตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้น หลังวิกฤติโควิดได้มีการปรับรูปแบบเจรจาเพื่อการส่งออกเป็นระบบออนไลน์มากขึ้น และเกือบเต็มรูปแบบ โดยกระทรวงพาณิชย์สามารถผลิตนวัตกรรมทางการตลาดรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นหลายรูปแบบ เช่น ไฮบริด ส่งสินค้าจริงไปยังประเทศปลายทางและเจรจาซื้อขายกันด้วยระบบออนไลน์ หรือ Mirror Mirror และรูปแบบจับคู่ธุรกิจออนไลน์ Online Business Matching (OBM) โดยทีมเซลล์แมนประเทศเจรจาและจัดพื้นที่ให้มีการเจรจาผ่านระบบออนไลน์ ผู้ส่งออกของไทยสามารถเจรจาทำสัญญาซื้อขาย เจรจาจับคู่ ปี 2563 สามารถทำยอดขายเฉพาะระบบ OBM 15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปี 2564 ตั้งเป้าหมายว่าจะให้ได้ไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ไตรมาสแรกดำเนินการจับคู่เจรจาธุรกิจ 33 ครั้ง ได้ 992 คู่ สามารถขายสินค้าให้กับผู้ส่งออกของไทย 325 ราย มีผู้นำเข้าจากต่างประเทศมาซื้อสินค้า 345 ราย ยอดซื้อขายไตรมาสแรกของปีนี้ 5,280 ล้านบาท โดยมองว่าไตรมาสที่เหลือกำหนดแผนงานไว้ชัดเจนแล้ว กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าแม้ในภาวะวิกฤตโควิด เพื่อนำรายได้เข้าประเทศในทุกช่องทาง กำหนดเป้าหมายจัดให้มีการจับคู่ 85 ครั้ง เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ตั้งเป้าจับคู่ไม่ต่ำกว่า 2,500 คู่ จะทำมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,600 ล้านบาท
ตัวอย่าง เดือนพฤษภาคม 2564 ทำกับห้าง Walmart ของสหรัฐอเมริกา และประเทศแอฟริกาใต้ จับคู่เพื่อขายสินค้าฮาลาลในเดือนกรกฎาคม ขายอาหารสุขภาพในเดือนกรกฎาคม เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย