กรุงเทพฯ 11 ม.ค.-ปตท. และ ไออาร์พีซี ร่วมกันศึกษาการผลิตวัตถุดิบสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ลดการระบาดโควิด-19 เบื้องต้นศึกษาลงทุนผลิต Melt Blown และ NBL
วันนี้ (11 มกราคม 2564) นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาการลงทุนในธุรกิจ Melt Blown และธุรกิจ Nitrile Butadiene Latex (NBL) ระหว่างบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) โดย นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร กลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด อีกตำแหน่งหนึ่ง เป็นผู้ลงนาม
นายกฤษณ์ กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. โดย ปตท. และ ไออาร์พีซี เร่งเดินหน้าผลักดันธุรกิจ Life Science มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์และด้านสาธารณสุขให้แก่ประเทศ โดย ปตท. และ ไออาร์พีซี จะร่วมกันศึกษาการผลิตผ้า Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย (PPE) หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ เป็นต้น และ Nitrile Butadiene Latex (NBL) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นถุงมือไนไตร หรือถุงมือทางการแพทย์ เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทยให้ทัดเทียมสากล และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน คาดหวังว่าจะสามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2565 และ 2568 ตามลำดับ
นายชวลิต กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของ ไออาร์พีซี และกลุ่ม ปตท. ที่จะผลิตผ้า Melt Blown ของคนไทยเป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้า เพิ่มเสถียรภาพด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยคุณสมบัติของผ้า Melt Blown เป็นผ้าที่มีเส้นใยขนาดเล็กและละเอียดในระดับนาโนเมตร-ไมโครเมตร นิยมในการนำไปทำชั้นกรองในหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 หน้ากากทางการแพทย์ ชุดกาวน์ และแผ่นกรองต่างๆ ในส่วนของ NBL นั้น เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตถุงมือไนไตร มีความแตกต่างจากถุงมือยางจากธรรมชาติที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีความทนทานต่อสารเคมีและตัวทำละลายต่างๆ มากกว่า โดยผู้ใช้จะไม่เกิดอาการระคายเคืองจากโปรตีนที่เกิดจากยางพารา จึงเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข
นาย.บุรณิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งที่ไทยามีวัตถุดิบทั้งนี้ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด จะดำเนินธุรกิจยา อาหารเพื่อสุขภาพ และธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงได้มีแผนการลงทุนในการผลิตผ้า Melt Blown และ NBL .-สำนักข่าวไทย