กรุงเทพฯ 7 ม.ค.-ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนธันวาคม ลดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หวังรัฐบาลคุมสถานการณ์ได้เร็ว1-3 เดือน หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง คาดอาจทำให้จีดีพี64โตเพียง2.2%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) หรือ TCC-CI สำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 2249 ตัวอย่าง ในเดือน ธันวามคม 63 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน อยู่ที่ 43.5 จาก 45.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 47.5 จาก 50.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 59.2 จาก 61.6 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ที่สมุทรสาคร โดยเฉพาะตลาดกุ้ง ขณะนี้มีการแพร่ระบาดหลายจังหวัด และมียอดผู้ติดเชื้อกว่า 500 คนต่อวัน ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนก และมีความกังวลสูง
การสำรวจช่วงปลายเดือนธ.ค. เป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุด 5 จังหวัด แต่การสำรวจยังไม่ครอบคลุมถึงการที่ กทม.งดการจัดกิจกรรม และยังไม่รวมปิดพื้นที่ในหลายๆจังหวัด แต่ก็ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกลงอย่างมากในอนาคต ความเชื่อมั่นที่เป็นปัจจุบันจะตกลงทั้งการหางานทำ และเศรษฐกิจจะตกลง 1.6 จุด และตัวเลขความเชื่อมั่นนี้ยังไม่รวมถึงเหตุการณ์ที่หนักขึ้นในเดือนมกราคม
นอกจากนี้ พบว่า ดัชนีค่าครองชีพปรับตัวต่ำสุดในรอบ 14 ปี 8 เดือน ตั้งแต่มีการทำการสำรวจมา ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีสัญญาณตกลงน่าจะมีผลทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนชะลอตัวลงจนถึงปลายไตรมาสที่ 1 แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีการ lockdown แต่สถานการณ์ก็มีความใกล้เคียงกับการ lockdown คาดต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน สถานการณ์จึงคลี่คลาย
ขณะที่ปัจจัยบวกนั้น ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า ,การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัวที่ 6.6% ดีกว่าที่ประเมินไว้ จากเดิมที่หดตัว 7.8% ,ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการ”คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “ช้อปดีมีคืน” และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี
ส่วนมาตรการยกระดับควบคุมโควิด 28 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีภาคบริการสูงคือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ดังนั้น จึงประเมินว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อนานไม่เกิน 3 เดือน และผลกระทบทางเศรษฐกิจจะลดลง หาก และหากรัฐบาลเร่งเข้าพยุงเศรษฐกิจ ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนหรือ กกร.เสนอ เช่น ใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท การเพิ่มเม็ดเงิน “คนละครึ่ง” ที่สามารถยอดได้โดยอาจเพิ่มวงเงินจาก 3,500 บาทต่อคนเป็น 5,000 บาทต่อคน หรือเพิ่มจำนวนคนเข้าร่วมโครงการจาก 15 ล้านคนเป็น 20 ล้านคน
“ผลกระทบจากโควิด-19 หากคุมได้ ในช่วง1-3 เดือน จะกระทบจีดีพีไทย 0.9-2.8% และในกรณีแย่ที่สุด คาดว่าจะติดลบ 0.3% ซึ่ง อาจทำให้จีดีพีปีนี้ไม่สูงถึง 2.8% ตามที่ประเมินไว้เดิม อาจโต 2.2% และหากกรณีเลวร้ายจะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยหนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มสูง 90% นับเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากประชาชนไม่มีรายได้ ต้องกู้หนี้สินเพื่อใช้จ่าย ขาดการจ้างงาน คนตกงาน”นายธนวรรธน์กล่าว/สำนักข่าวไทย