กรุงเทพฯ 4 ม.ค. – รัฐมนตรีคมนาคมประกาศปี 2564 เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน น้ำ บก อากาศ และราง บูรณาการเชื่อมโยงทุกระบบขนส่ง เน้นความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงนโยบายสำคัญ ที่กระทรวงคมนาคม จะเร่งรัดดำเนินการในปี 2564 เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วทั้งประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก รางและอากาศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในปีนี้ กระทรวงคมนาคม จะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการบูรณาการ ระหว่างรูปแบบการขนส่ง และการกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล เริ่มจากสานต่อนโยบายเดิมจากปี 2563 และการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมปี 2564
สำหรับการสานต่อนโยบายเดิมจากปี 2563 ประกอบด้วย การเร่งผลักดันการปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและปัญหามลพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ,เร่งจัดทำ Taxi Application เพื่อทดแทนเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของระบบ Taxi การเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ
โดยล่าสุดการพัฒนาระบบตั๋วร่วมได้มีสถาบันการเงินให้ความสนใจเข้าลงทุนในระบบซอฟต์แวร์ ระบบจัดเก็บค่าโดยสาร ผ่านหน่วยงานกลาง หรือ Clearing House แล้วหลังจากที่ การพัฒนาระบบติดปัญหาขาดผู้ลงทุนที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนหลายร้อยล้านบาทมาระยะหนึ่ง โดยเชื่อว่าการพัฒนาตั๋วร่วมโดยแนวทางดังกล่าวจะมีความคืบหน้าชัดเจนในปีนี้
การเร่งรัดพัฒนาการบริการรถ ขสมก. และการนำระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket)มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ,เร่งพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง ,เร่งผลักดันการขนส่งสินค้าทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปท่าเรือแหลมฉบัง ,เร่งพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคเป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าเกษตรหรือสินค้าเน่าเสียง่ายออกสู่ตลาด
“ สำหรับช่วงสามเดือนแรกของปี 2564 เชื่อว่าโครงการลงทุนสำคัญที่วางไว้ จะมีความคืบหน้าเร็วยิ่งขึ้นทั้งการพัฒนาโครงการส่วนต่อขยายมอเตอร์เวย์ จากเอกชัย – บ้านแพ้ว เบื้องต้นทราบว่าบอร์ดของสภาพัฒน์ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ขณะนี้เป็นข้อพิพาทในศาลเชื่อว่า น่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ ส่วนแผนฟื้นฟู ขสมก. หลังจากที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงคมนาคม ก็จะเร่งส่งเรื่องให้บอร์ดสภาพัฒน์พิจารณาเช่นกัน” นายศักดิ์สยามกล่าว
ส่วนการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมปี 2564 เพื่อให้เดินหน้าการพัฒนาระบบคมนาคมเชิกรุก วางรากฐานการพัฒนาสู่อนาคต เรื่องที่ 1. คือการศึกษาแผนแม่บท MR-MAP เพื่อวางแผนการพัฒนามอเตอร์เวย์ให้สอดคล้องไปกับการขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ซึ่งจะลดปัญหาการเวนคืนที่ดินชำซ้อนส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างเป็นระบบ และบูรณาการโครงข่ายการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
เรื่องที่ 2 ศึกษาแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน หรือ Land Bridge โดยการพัฒนามอเตอร์เวย์ควบคู่กับรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนอง เพื่อลดเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้า เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้กับการขนส่งและโลจิสติกส์ ของทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ทำให้ประเทศไทยไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคในอนาคต
เรื่องที่ 3 ตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP เพื่อส่งเสริมธุรกิจ การตลาด และเปิดช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ในพื้นที่สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า และท่าอากาศยาน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก รวมถึงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องที่ 4 สร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ ด้วยการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ว่างของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้สวยงามร่มรื่น และจัดพื้นที่ใช้สอย ให้เกิดประโยชน์ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่
เรื่องที่ 5 ผลักดันการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV สำหรับใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า และการนำระบบ EV พลังงาน Battery on Train มาใช้กับรถไฟไทย เพื่อประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และยกระดับระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยให้เป็นสากล
เรื่องที่ 6 ศึกษาและกำหนดแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยาง ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค ซึ่งใช้งบประมาณต่ำกว่ารถไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และเตรียมพร้อมยกระดับการพัฒนาระบบเป็นรถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail)ในอนาคตต่อไป
เรื่องที่ 7 พัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง หรือ Feeder เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากย่านธุรกิจหรือชุมชนต่าง ๆ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าหลัก อำนวยความสะดวกในการเดินทางจากบ้านไปถึงยังจุดที่หมายปลายทาง ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อการแก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน
เรื่องที่ 8 เร่งรัดการเปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ โดยพร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่ปริมณฑลและภูมิภาคต่างๆ ของประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางยุคใหม่ที่ทันสมัยเทียบเท่าสถานีรถไฟฟ้าชั้นนำของโลก, เรื่องที่ 9 แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน นอกจากการผลักดันใช้ระบบ M-Flow ในการผ่านทางด่วนแล้ว ทำการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน โดยทำการปรับปรุง โครงข่ายทางทางพิเศษและมอเตอร์เวย์จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่
1) มอเตอร์เวย์ช่วงศรีนครินทร์ – สุวรรณภูมิ
2) ถนนประเสริฐมนูกิจ – งามวงศ์วาน
3) ทางด่วนขั้นที่ 1 ต่างระดับอาจณรงค์
4) ทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสะพานพระราม 9 – พระราม 2 เพื่อลดความแออัด และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน
เรื่องที่ 10 แก้ปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ต โดยบูรณาการโครงข่ายทางพิเศษ
สายกะทู้ ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม. ของกรมทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวจากท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา เข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ตได้อย่างสะดวกรวดเร็วลดความแออัดบนทางหลวงหมายเลข 402
และเรื่องที่ 11 วางระบบติดตามโครงการขนาดใหญ่ เพื่อบูรณาการการบริหาร สั่งการติดตามผลและแก้ไขปัญหาในการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ – กาญจนบุรีโครงข่ายรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ มิติการประชาสัมพันธ์ มิติการเร่งรัดการก่อสร้าง มิติการบริหารจราจร และมิติการบริหารพื้นที่ร่วมกับโครงการอื่น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อประชาชน
โครงการเหล่านี้ จะเป็นการวางรากฐานการเชื่อมโยงโครงข่ายและบริการด้านคมนาคมอย่างบูรณาการ มุ่งเน้นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป . – สำนักข่าวไทย