กรุงเทพฯ 2 ธ.ค. – กรรมาธิการคมนาคม สภาฯ ขีดเส้น1-2 สัปดาห์นี้ให้หน่วยงานที่เกีี่ยวข้องทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษณ์ กรณีมหาดไทยเสนอ ครม.อนุมัติขยายสัญญาสัมปทาน 30 ปี รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ บีทีเอส หากข้อมูลฟังไม่ขึ้น หรือมีนัยยะสำคัญ จ่อเสนอ“ป.ป.ช.-สตง.-รัฐบาล”สอบทันที
นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการเสนอขยายต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปีให้กับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอต่อ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนว่า ภายหลังจากที่มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้ง กรุงเทพมหานคร(กทม.), สำนักบริหารหนี้ ,กรมการขนส่งทางราง(ขร.) กระทรวงคมนาคม ,กระทรวงการคลัง มาชี้แจงถึงแนวทางและเหตุผล รวมถึงข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ยอมรับว่า ข้อมูลที่ได้ทางคณะกรรมาธิการฯมองว่ายังไม่มีความชัดเจนที่สามารถตรวจสอลบ หรือ อ้างอิงที่มาที่ไปที่จะรับฟังได้หากมีการต่อขยายอายุสัญญาสัมปทานให้เอกชน ว่า ประโยชน์ที่แท้จริงประชาชนและ ภาครัฐได้ประโยชน์อย่างไร
ดังนั้นทางกรรมาธิการคมนาคม สภาฯจึงได้ทำหนังสือออกไปเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อตอบคำถามในสิ่งที่ทาง สภาฯได้ถามไปให้ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตามกำหนดได้ให้ส่งกลับมายังสภาฯภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หลังจากนั้นทาง คณะกรรมาธิการ คมนาคม สภาฯ จะมาสรุป เพื่อมาประมวลข้อมูลทั้งหมด ก่อนที่คณะกรรมาธิการคมนาคม จะสรุปผลทั้งข้อดี ข้อเสีย เหตุผลในทุกๆด้านมาประกอบ ซึ่งหากพิจารณาและสรุปออกมาแล้วทางคณะกรรมาธิการยังพบว่าไม่เป็นประฌยชน์กับประชาชน หรือ ภาครัฐ หรือสุ่มเสี่ยงไปในทางที่ไม่โปร่งใส ทางคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาฯ จะส่งผลสรุป ไปยังหน่วยงานที่ตรวจสอบความไม่โปร่งใส ประกอบด้วย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ,คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และ รัฐบาล
นายโสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องทำความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อมีการเรียกบางหน่วยงานมาชี้แจง ก็พบว่า มีการให้ข้อมูลที่ไม่มีความชัดเจน ประกอบกับการขยายต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30 ปี แลกกับค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสาย ในขณะที่สัญญาสัมปทานที่ กทม. มีกับ บีทีเอส นั้นจากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2572 หากมีการขยายจะไปสิ้นสุดในปี 2602 ขณะที่มีการอ้างว่า หากต่อขยายสัญญาเพื่อให้ทันตามแผนการเปิดให้บริการเดินรถไฟสายเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคตช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ มีความต่อเนื่องในการเดินทาง โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายขบวนรถ รวมถึงได้รับความสะดวก ปลอดภัย และค่าโดยสารที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ ในทางปฎิบัติหากไม่มีการต่อขยายสัญญา โครงการดังกล่าวจะตกเป็นของภาครัฐอยู่แล้ว และหากในอนาคต รัฐบาลมีรถไฟฟ้าหลายสายหากจะมีการเชื่อมต่อระบบระหว่างกัน จะทำให้มีการควบคุมราคา หรือ ลดราคา โดยการใช้ตั๋วร่วม ในทางนโยบายของรัฐบาลทำได้ยากทันที ดังนั้นเรื่องนี้ทางสภาฯจึงมองว่าเป็นเรื่องสำคัญขณะเดียวกันทางสังคมได้มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ในฐานะสภานิติบัญญัติ เมื่อได้ข้อมูลมา ทางกรรมาธิการคมนาคม สภาฯจึงต้องมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมองว่า หากมีการต่อขยายอายุสัญญา ให้กับเอกชน ถือเป็นการเพิ่มนัยยะที่สำคัญของสัญญาทันที โดยที่ไม่มีการเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนินการหลังหมดสัญญา
“ประเด็นสำคัญเรื่องนี้ มีการพิจารณาตามข้อกฎหมายว่า การขยายสัมปทานดังกล่าว เข้าข่ายเป็นแค่การต่อสัญญา หรือการแก้ไขสัญญาที่มีนัยยะสำคัญ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีเส้นทางต่อเชื่อมระยะทางเพิ่มขึ้น การกำหนดราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้น ที่อ้างว่ามีการสอบถามความเห็นของประชาชนบางส่วนแล้ว และรับได้กับราคาดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง การคำนวณค่าโดยสารจะต้องมีการนำข้อมูลฐานผู้ใช้บริการมาคำนวณกับดัชนีราคาผู้บริโภคต่างๆเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด” นายโสภณกล่าว.-สำนักข่าวไทย