กรุงเทพฯ 10 พ.ย. – ก.พลังงานยืนยันไทยยังส่งเสริมให้มีการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า ปี 64 ดีเดย์หารือเข้มข้น พร้อมคงเป้าหมายอีก 20 ปีข้างหน้า ยานยนต์ที่วิ่งบนถนนในประเทศไทยจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้ามากถึง 2.5 ล้านคัน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประจำปี Everlasting Battery แบตเตอรี่ : ปฏิวัติพลังงานอนาคต จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า การพัฒนาแบตเตอรี่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล การพัฒนาจะยิ่งเร็วมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ลดลงถึง 80% และแบตเตอรี่่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพไม่มากประมาณ 80% ยังสามารถนำมาใช้เป็นที่เก็บพลังงานไฟฟ้า เช่น โซลาร์เซล เป็นต้น และบางส่วนก็นำมาปรับเปลี่ยนและขายราคาถูก
สำหรับกระทรวงพลังงานจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ปี 2022 ขยายกรอบการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศใหม่ โดยนับรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถสถานีชาร์ต รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 13 สาย รวมถึงรถไฟที่บางส่วนใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนควบคู่กับการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม สำหรับนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้มีสัดส่วน 30% ของจำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนถนน หรือประมาณ 750,000 คันภายในปี 2030 หรือ 10 ปีข้างหน้า และทางกระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกันกำหนดเป้าหมายว่าในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ยานยนต์ที่วิ่งบนถนนในประเทศไทยจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้ามากถึง 2.5 ล้านคัน
นายกุลิศ กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้จัดชุดมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหญ่ ขณะเดียวกันปี 2564 ทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นหารือการส่งเสริมลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง รวมถึงรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งสินค้า ซึ่งจะส่งเสริมผลิตชิ้นส่วนหลักในประเทศ ส่วนอัตราภาษียานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร ก็จะมีการหารือกันต่อไป แต่ขณะนี้ภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าเฉพาะรถยนต์นั่งจากจีน อัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนจีน
ด้านสถานีชาร์จไฟฟ้า จะได้รับการสนับสนุนให้มีการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศเพิ่มขึ้น โดยผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 หรือสถานีบริการน้ำมันจะปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้มีการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าทุก ๆ 150-200 กิโลเมตร รวมถึงจุดพักรถต่าง ๆ นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังเดินหน้าปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการพัฒนาพลังงานในอนาคต รวมถึงปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีชาร์จจากปัจจุบันคิดรวมในภาคอุตสาหกรรม โดยขอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แยกค่าไฟฟ้าออกมาสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบางจากฯ มีการลงทุนในเหมืองลิเทียมผ่านการถือหุ้นใน Lithium Americas Corp.(LAC) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเหมืองลิเทียมในประเทศอาร์เจนติน่าและสหรัฐอเมริกา โดยจะมีสัดส่วนรับซื้อแร่ลิเทียมประมาณ 6,000 ตันต่อปี คาดว่าสามารถเริ่มผลิตแร่ได้ปลายปี 2564.-สำนักข่าวไทย