กรุงเทพฯ 1 ต.ค. – พาณิชยเร่งหาทางช่วยภาคเอกชนรับมือสหรัฐฯ ระงับสิทธิฯ GSP สินค้าไทย อ้างไทยไม่เปิดตลาดสุกรและผลิตภัณฑ์
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าได้รับการแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ถึงประกาศประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Presidential Proclamation) เกี่ยวกับผลการพิจารณาตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งนี้เป็นการทบทวนรายประเทศ (Country Practice) โดยเป็นเรื่องของการเปิดตลาดสินค้าและบริการประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้น ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การตัดสิทธิฯ ดังกล่าวมีจำนวน 231 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ จริงในปี 2562 จำนวน 147 รายการ มูลค่าการนำเข้าประมาณ 604 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น
ทั้งนี้ การให้สิทธิ GSP นั้นเป็นการให้ฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาไทยและสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้มาโดยตลอดผ่านเวที TIFA (Trade and Investment Framework Agreement) โดยหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการในการประสานกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่ง สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ยินดีหากไทยจะหาทางออกร่วมกันในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสิทธิ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยในเบื้องต้นวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย อาทิ Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้หารือ และทำความเข้าใจกับภาคเอกชนตลอดมา เพื่อเตรียมการรองรับและเน้นในเรื่องกลยุทธ์การตลาดที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา โดยผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมรวมถึงแจ้งเรื่องผลกระทบที่ได้รับได้ผ่านทางไลน์แอปพลิเคชั่นชื่อบัญชี “GSP_helper” หรือสายด่วน 1385 รวมถึงเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th ได้
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มองไม่กระทบกับการส่งออกมาก เพราะไทยและสหรัฐฯเจรจากันมากว่า 2 ปีแล้วเกี่ยวกับประเด็นการเปิดตลาดไทยให้กับสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯมีการเตรียมพร้อมด้วยการหาตลาดใหม่ๆ ทดแทนสหรัฐฯ มานานแล้ว และสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายประเทศไม่สามารถผลินสินค้าได้ ส่งผลให้ยอดการส่งออกสินค้าไทยเติบโตได้ดี หากสินค้าไทยมีการเน้นคุณภาพมาตรฐาน ก็ต้องมีการกลับมาซื้ออย่างแน่นอน พร้อมมองว่า การตัดสิทธิครั้งนี้ จะส่งผลให้คนสหรัฐฯต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น ส่วนจะเป็นเพียงการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯหรือไม่ หรือจะเป็นการตัดสิทธิจริงในระยะยาว ยังคงต้องติดตามว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เพราะผู้สมัครทั้งสองคนมีนโยบายด้านการค้าที่แตกต่างกัน
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การถูกตัดจีเอสพีส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย ในกลุ่มที่จะถูกตัด จีเอสพีแน่นอน เพราะทำให้ถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงสุดตามอัตราปกติ โดยไม่ได้รับการลดหย่อนหรือไม่ถูกเก็บภาษีในอัตราต่ำเหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน . – สำนักข่าวไทย