กรุงเทพฯ 12 ต.ค – ร่างเกณฑ์ฯ โรงไฟฟ้าชุมชนเตรียมเปิดรับซื้อ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 75 เมกะวัตต์และก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 75 เมกะวัตต์ เน้นพืชพลังงานปลูกใหม่เท่านั้น ด้านวิสาหกิจชุมชนแนะให้แยกประเภทโรงไฟฟ้า เชื้อเพลิงในการแข่งขัน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์และรูปแบบการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อจะเร่งสรุปให้สามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ภายในสิ้นปีนี้ กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไว้ที่ 150 เมกะวัตต์ แยกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass ) 75 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน (Biogas) 75 เมกะวัตต์ กำหนดปริมาณการขายไฟฟ้าไม่เกิน 3 เมกะวัตต์/แห่ง ใช้วิธีคัดเลือกด้วยการเปิดให้แข่งขันราคาในการขายไฟ (Competitive Bidding)
คุณสมบัติเบื้องต้นผู้ยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเข้าร่วมโครงการต้องใช้เชื้อเพลิงจากการปลูกใหม่เท่านั้น เช่น ไม้โตเร็ว ไผ่ รวมถึงเพิ่มการใช้หญ้าเนเปียร์สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล และเชื้อเพลิงกำหนดให้ผู้ประกอบการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) กับเกษตรกรตาม พ.ร.บ.พันธสัญญา (ไม่กำหนดว่าต้องร่วมกับวิสาหกิจชุมชน 200 ครัวเรือนขึ้นไป) โดยกำหนดสัดส่วนการจัดหาเชื้อเพลิงแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ 1.ร้อยละ 80 ผ่าน Contract Farming โดยข้อนี้เพื่อเป็นการยืดหยุ่นกรณีเหตุสุดวิสัยเกษตรกรไม่สามารถจัดหาเชื้อเพลิงได้ให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาได้เอง (มีหน่วยงานมากำกับดูแลและตรวจสอบ) 2.สัดส่วนร้อยละ 20 ให้โรงไฟฟ้าจัดหาได้เองและให้ผู้ประกอบการวางแบงก์การันตี เพื่อเป็นหลักประกันให้เกษตรกรกรณีหยุดรับซื้อไม่เป็นไปตามสัญญา เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนไปปลูกพืชชนิดอื่น ส่วนแนวทางการจัดสรรผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน เช่น อาจแบ่งกำไรร้อยละ 10 ให้กับชุมชน
ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม. ) กล่าวว่า แนวทางการรับซื้อไฟฟ้าควรจะแยกแข่งขันตามประเภทของโรงไฟฟ้า ( Biomass , Biogas ) และ เชื้อเพลิง ( ไม้โตเร็ว, หญ้าเนเปียร์ และอื่น ๆ) เพื่อที่จะทำให้การแข่งขันอยู่บนพื้นฐานที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ ควรกำหนดตัวเลขตายตัว (fix) สำหรับผลตอบแทนที่วิสาหกิจชุมชนจะได้รับ เพื่อเปรียบเทียบกันได้ง่ายและยกเลิกการจ่ายเงิน 0.25 บาท/kwh เข้ากองทุนโรงไฟฟ้า ควรเน้นให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมเป็นอันดับแรก, การอยู่ได้ของนักลงทุนเป็นอันดับ 2 และการมีโอกาสสร้างโรงไฟฟ้าได้จริง และเดินเครื่อง 20 ปีอย่างยั่งยืนเป็นอันดับ 3 มากกว่าการให้ความสำคัญกับการเสนอค่าไฟต่ำสุด
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ได้เร่งรัดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณายกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA ) กับการไฟฟ้าได้ทัน 13 ธันวาคม2562 ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 100 เมกะวัตต์ จากผู้ร่วมโครงการทั้งหมด 17 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ แต่มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ โดยให้ กกพ.พิจารณาให้เสร็จภายใน 30 ตุลาคม 2563 และนำกลับมารายงาน กบง.อีกครั้ง การยกเลิกสัญญาดังกล่าวจะส่งผลให้โครงการ SPP Hybrid Firm เหลือโควตาอีก 100 เมกะวัตต์ เพื่อนำโครงการดังกล่าวมาจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแทน ซึ่งจะช่วยให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเดินหน้าได้ทันที.-สำนักข่าวไทย