กรุงเทพฯ 11 ต.ค. -“เฉลิมชัย” สั่งกรมชลฯ เร่งระบายน้ำ 6 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย พร้อมมอบหมายทุกหน่วยงานสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตร เพื่อช่วยเหลือหลังน้ำลดทันที
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานเข้าไปบรรเทาความเดือดร้อนและดูแลประชาชนให้ถึงที่สุด โดยวันนี้ (11 ต.ค.) ได้รับรายงานว่ามีพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ระยอง และเพชรบุรี
สำหรับจังหวัดนครราชสีมา น้ำป่าไหลหลากจากเขาใหญ่ลงสู่ต้นน้ำลำตะคอง และไหลล้นเข้าท่วมพื้นที่บ้านคลองเดื่อ บ้านวังประดู่ บ้านคลองเพล บ้านโต่งโต้น บ้านท่ามะปรางค์ ต.หมูสี ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลหลากนี้จะไหลลงอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่ปัจจุบันยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกประมาณ 76 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่กระทบกับพื้นที่ด้านท้ายน้ำ รวมถึงในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา
ส่วนการช่วยเหลือระบายน้ำที่ท่วมขังในเขตอำเภอเมือง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทันให้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำบริบูรณ์ บริเวณประตูระบายน้ำ (ปตร.) จอหอ 6 เครื่อง และที่ลำน้ำลำตะคอง อีก 3 เครื่อง นอกจากนี้ ยังนำรถแบคโฮ 5 คันเข้าไปขุดลอกคลองสาบใหญ่ฝั่งขวา-ประตูระบายน้ำ (ปตร.) โพธิ์เตี้ย ต.หมื่นไวย อ.เมืองนครราชสีมา รวมระยะทาง 11 กม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์ให้เร็วขึ้น
ขณะที่เขื่อนลำพระเพลิง กรมชลประทานรายงานว่ามีน้ำ 95% ของความจุอ่าง แนวโน้มน้ำไหลลงอ่างลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันระบายน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ซึ่งส่งผลกระทบเล็กน้อยในพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรในเขต อ.ปักธงชัย
สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งในเขต 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ด่านมะขามเตี้ย ปริมาณน้ำในลำน้ำลำภาชีเพิ่มสูงขึ้น เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบริเวณพื้นที่หมู่ 3 บ้านหินแด้น ต.หนองไผ่ และหมู่ 6 บ้านท่าไม้ยาว และอำเภอบ่อพลอย เกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้ลำน้ำลำตะเพินเอ่อล้นตลิ่ง ด้านเหนือสถานีวัดน้ำ K.49 เข้าท่วมพื้นที่ไร่อ้อย โครงการชลประทานกาญจนบุรีได้เตรียมเครื่องสูบน้ำที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือ โดยได้แจ้งให้ผู้นำท้องที่ทราบถึงสถานการณ์น้ำแล้ว เพื่อเปิดอาคารบังคับน้ำบ้านชุกกระเพาะ ในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ สถานการณ์ที่จังหวัดราชบุรี เกิดน้ำหลากล้นตลิ่งแม่น้ำภาชี เข้าท่วมที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรในผึ้งใน ต.ตะนาวศรีและ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง ต.ด่านทับตะโก และต.แก้มอ้น อ.จอมบึง ลำห้วยแม่ประจันต์ ต.ยางหัก อ.ปากท่อ แนวโน้มระดับน้ำในลำภาชีเริ่มลดลงแล้ว สนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือแล้ว
ด้านจังหวัดจันทบุรี มีน้ำป่าไหลหลากเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บริเวณหมู่ 1 หมู่ 5 หมู่ 9 และหมู่ 12 ต.ทรายขาว และหมู่ 11 ต.ทับช้าง อ.สอยดาว และด่านบ้านแหลม ต.เทพนิมิต อ.สอยดาว สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วน อ.โป่งน้ำร้อน ระดับน้ำยังทรงตัว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้ จังหวัดระยอง มีน้ำท่วมขังถนนสายแหลมมะขาม ซ.2 ถึงร้านอาหารต้นทางรัก ม.2 ต.ทับมา อ.เมืองระยอง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.10-0.50 เมตร โครงการชลประทานระยองร่วมกับเทศบาลตำบลทับมา ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากไม่มีฝนตกในพื้นที่ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน โดยนิคมอุตสาหกรรมมาบตะพุดเดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำหนองโพรง (ต้นทางรัก) เร่งระบายน้ำลงสู่คลองน้ำหูแล้ว
สำหรับจังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน มี 44 % ของความจุอ่าง ซึ่งกรมชลประทานปิดการระบายน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์มีน้ำ 90 % ของความจุอ่าง จำเป็นต้องระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยผากมีน้ำ 56 % ของความจุอ่าง ปิดการระบาย ทั้งนี้ จากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ ประกอบกับปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกด้านท้ายอ่าง จะไหลไปรวมกับแม่น้ำเพชรบุรีที่มาจากเขื่อนแก่งกระจาน และห้วยผาก ก่อนเข้าสู่เขื่อนเพชร ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมการระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีที่จะไหลลงไปสู่พื้นที่ตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรีต่อไป
“ย้ำให้เร่งระบายน้ำโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ ยังสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมงทันทีหลังน้ำลด” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มอบหมายสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย พร้อมเตรียมการวางแผนช่วยเหลือเกษตรกร สนับสนุนกล้าเมล็ดพันธุ์ผัก แนะนำวิธีการดูแลรักษา ฟื้นฟูพืชที่ถูกต้องให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างทันท่วงที
สำหรับเกษตรกรรายเดิมที่ทำการเพาะปลูกพืช หากมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละรอบการผลิต ขอให้แจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน หรือหากเป็นเกษตรกรรายใหม่ให้มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ณ ที่ตั้งแปลงพร้อมเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ให้บริการ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายเดิมสามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ด้วยตนเองผ่านทางแอปพลิเคชัน Farmbook ทั้งนี้ เพื่อที่เกษตรกรจะได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิขอรับการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือรับบริการต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น กรณีการขอรับความช่วยเหลือเมื่อประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในด้านพืช ตามระเบียบกระทรวงการคลัง
หากพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ภายหลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้สำนักงานเกษตรอำเภอ/สำนักงานเกษตรจังหวัด เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และกรอบระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ (เร่งด่วน) ที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดให้แล้วเสร็จ ภายใน 15 วัน ทั้งนี้ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ มีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ คือ จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ก่อนเกิดภัย และช่วยเหลือเกษตรกรตามจำนวนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจริง ทั้งนี้ ไม่เกิน 30 ไร่ อัตราการช่วยเหลือด้านพืช แบ่งเป็น ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่น ๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท.-สำนักข่าวไทย