กรุงเทพฯ 8 ต.ค. – นักเศรษฐศาสตร์ คาดจีดีพีและการส่งออกปีหน้าฟื้นตัวช้า กังวลท่องเที่ยวทรุด แนะรัฐอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการมีวินัยการคลัง
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวภายในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ – TEA Annual Forum 2020 ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “อยู่เป็น อยู่รอด ผ่านโควิดไปด้วยกัน” -STAYING ALIVE IN COVID WORLD ว่า เศรษฐกิจโลกมีท่าทีฟื้นตัวได้ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของประเทศสำคัญ มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลาย และการคลายล็อกดาวน์ กำลังซื้อของต่างประเทศเริ่มกลับมาบ้าง การส่งออกเริ่มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น กลุ่มอาหารและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเกษตร แต่กลุ่มยานยนต์อาจจะฟื้นตัวช้า ขณะที่ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานในประเทศ ส่วนค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอ่อนค่าจากปัจจัยต่างประเทศ ส่วนทิศทางค่าเงินบาทในปีหน้ามีโอกาสที่จะแข็งค่า เพราะเราเกินดุลการค้ายังมีอยู่ นอกจากนี้แนะภาคเอสเอ็มอีในการปรับตัว หาจุดแข็ง และออกไปหาตลาดในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มเติม
ทั้งนี้ มองว่าปีหน้ามีโอกาสที่การส่งออกจะขยายตัวได้เกิน 5 % จากฐานในปีนี้ที่ต่ำ
สำหรับปัจจัยด้านต่างประเทศที่ต้องติดตาม คือความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐ ไม่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์หรือนาย โจ ไบเดนจะได้รับชัยชนะ สหรัฐยังคงดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะช่วงนี้นายโจ ไบเดนได้รับคะแนนนิยมมากกว่า มีโอกาสจะเป็นประธานาธิบดีสูงกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ตลาดตอบรับในด้านลบ เพราะนักลงทุนกังวลนโยบายปรับขึ้นภาษีธุรกิจหรือนโยบายที่ไม่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 7 – 9% เป็นการหดตัวที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้ายังคงคาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หดหายไปอาจจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจในปีหน้าที่คาดว่าอาจจะเติบโตได้ 2- 3 % แต่ในกรณีที่ไม่มีวัคซีนเศรษฐกิจก็อาจจะไม่เติบโตเลย
ทั้งนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจได้ผ่านจุดที่ต่ำสุดมาแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจ อาจจะได้เห็นบางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับริการและการท่องเที่ยวเลิกกิจการ ส่งผลต่อการจ้างงาน โดยคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน สะท้อนจากอัตราการว่างงาน อัตราของผู้ที่มีงานทำแต่ไม่ได้ทำงาน และอัตราของคนที่ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ ในขณะนี้มีมากถึง 11 ล้านคน หากเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 มีเพียง 6 ล้านคนเท่านั้น ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจะส่งผลกระทบไปยังกิจการ กระทบต่อความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ กระทบต่อรายได้ในอนาคต และกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศด้วย
ด้านทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต มองว่า กนง. ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงใกล้ๆนี้ ประกอบกับเฟดที่ประกาศว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปี 2023 ยกเว้นกรณีที่เศรษฐกิจไทยแย่กว่านี้ ขณะเดียวถือว่าเป็นโอกาสของภาครัฐ เพราะอัตราดอกเบี้ยถูก สามารถกู้นำมาลงทุน ฟื้นฟูประเทศได้ แต่มีข้อแม้ 3 ข้อ คือ 1.ใช้แล้วต้องทำให้จีดีพีสูงขึ้น ลงทุนเหมาะสม ไม่รั่วไหล 2.ใช้แล้วอย่าทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น สร้างความมั่นใจตลาด ว่าภาครัฐมีวินัยการคลัง และ 3.ใช้แล้วต้องวางแผนจ่ายคืนข้างหน้า เช่น ปฏิรูปภาครัฐให้มีการใช้จ่ายน้อยลง
นายชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก กล่าวว่า ภาครัฐเป็นดั่งนายทวารที่ต้องมองเกมส์ให้ออก เปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้ทัน พร้อมทั้งต้องตีโจทย์ให้แตก ฉวยวิกฤตให้เป็นโอกาสและใช้กำลังที่มีในการสร้างโอกาส การลงทุน และประคับประคองเศรษฐกิจต่อไปให้ได้ . – สำนักข่าวไทย