กทม. 78 ต.ค. – ลุ้นศาลปกครองนัดไต่สวนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก วันที่ 14 ตุลาคมนี้ จับตายักษ์ใหญ่ผู้รับเหมาไทยประลองกำลังชิงเค้กโปรเจกต์ 1.4 ล้านบาท
บรรยากาศยังคงอึมครึม สำหรับปัญหาการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการกว่า 1.4 ล้านบาท โดยต้องจับตาว่าผลของการปรับวิธีการประเมินการยื่นซองประกวดราคาของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ที่ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงการขยายระยะเวลาให้เอกชนยื่นซองไป 45 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 9 พฤศจิกายนปีนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งกับเอกชนยักษ์ใหญ่ที่เตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการ จับตาความขัดแย้งครั้งนี้จะส่งผลให้ต้องมีการล้มการประกวดราคารอบนี้ ซึ่งแน่นอนจะทำให้การดำเนินโครงการต้องล่าช้าออกไปอีกหรือไม่
ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่าน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ทบทวน “วิธีการประเมินข้อเสนอ” การร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อ้างว่าไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะประมูลเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม ที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่น เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดำเนินงาน, ความน่าเชื่อถือ, ศักยภาพ และความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ กระทั่งต่อมา รฟม. ได้ออกประกาศปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก รฟม. ปิดการขายซองเอกสารประมูลไปแล้วเกือบ 1 เดือน หรือตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563
การปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ส่งผลให้กลุ่ม “บีทีเอส” ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองวันที่ 17 กันยายน เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการ มาตรา 36 ที่ปรับปรุงให้มีการขยายเวลาและเพิกถอนเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) เกี่ยวกับการประเมิน และร้องให้ศาลสั่งระงับการคัดเลือกเอกชนไว้ก่อน จนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จ ซึ่งศาลปกครองเตรียมนัดไต่สวนคำร้องของบีทีเอส และคำคัดค้านของ รฟม. ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ยืนยันว่า รฟม. และคณะกรรมการ มาตรา 36 ได้ปรับวิธีการประเมินการยื่นซอง โดยมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ไม่มีการดำเนินการส่อไปในทางทุจริต เพราะยังไม่มีการรับซองข้อเสนอ นอกจากนี้ยังมีการขยายระยะเวลายื่นซองออกไปอีก 45 วัน ทำให้เอกชนทุกรายมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอไม่น้อยกว่า 70 วัน และจะมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอให้เป็นไปตามการประเมินคุณสมบัติโดยเท่าเทียมกัน และมีข้อต่อสู้ที่สำคัญคือ ความเป็นผู้เสียหายของผู้ฟ้อง (บีทีเอส) ซึ่งยืนยันว่าขณะนี้ยังอยู่ในช่วงให้เอกชนเตรียมข้อเสนอราคา ยังไม่ได้ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่เอกชนรายใด จึงยังไม่มีผู้เสียหายเกิดขึ้น พร้อมยืนยันว่า รฟม. สามารถดำเนินการรับฟังข้อเสนอเอกชนนำมาปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อดำเนินการ จึงไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ หรือฟังแค่ความเห็นของเอกชนเพียงรายหนึ่งรายใดเท่านั้น
ส่วนข้อกังวลว่าการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องประสบการณ์การขุดอุโมงค์ จะส่งผลให้บีทีเอสเสียเปรียบเอกชนรายอื่นนั้น ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า การเปิดให้เอกชนรายใดเข้าเสนอคุณสมบัตินั้นจะมีลักษณะการเปิดกว้าง โดยระบุเป็นเพียงประสบการณ์ในการขุดอุโมงค์ที่มีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 5 เมตร รวมทั้งเอกชนที่ยื่นข้อเสนอสามารถนำคุณสมบัติของผู้รับเหมาช่วง หรือ Subcontract มาประกอบการยื่นข้อเสนอในการพิจารณาคุณสมบัติได้
ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งคุ้มครอง หรือยกคำร้อง ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ และย้ำว่า รฟม. พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล โดยเชื่อว่ากรณีดังกล่าวจะไม่ยืดเยื้อ
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า บีทีเอสพร้อมเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลปกครอง โดยบีทีเอสยืนยันว่าการปรับปรุงหลักเกณฑ์อาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ส่วนข้อต่อสู้ที่ รฟม. ระบุว่ายังไม่มีเอกชนรายใดยื่นซอง บีทีเอสจึงไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น คงต้องไปพิสูจน์กันในศาล.-สำนักข่าวไทย