ทำเนียบรัฐบาล 5 ต.ค. – อีอีซีเดินหน้าลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท พร้อมเตรียมเสนอ ศบศ.พิจารณามาตรการระยะเวลากักตัวนักลงทุนในพื้นที่อีอีซี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2563 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ.เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยโครงสร้างพื้นฐานคืบหน้าต่อเนื่อง 3 โครงการได้เอกชนร่วมลงทุนพร้อมเริ่มดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การดำเนินงานเป็นไปตามแผนคณะทำงานเร่งรัดโดยช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ ให้เอกชนดำเนินงานเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 ช่วงดอนเมือง- พญาไท จะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนดำเนินงานเดือนมกราคม 2565 ในส่วนงานแอร์พอร์ต เรลลิงก์ บริษัทเอกชนคู่สัญญาเริ่มดำเนินการในช่วงระยะที่ 1 แล้ว คือ การปรับปรุงคุณภาพบริการ และปรับปรุงความสามารถการเดินรถ
2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ปัจจุบันคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการโครงการฯ เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จตามเป้าหมายปี 2567 และ 3.โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างนำเสนออนุมัติว่าจ้างที่ปรึกษาต่อ กพอ. เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ต่อไป
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 3 โครงการ ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F จะลงนามสัญญากับเอกชนได้ภายใน 2563 โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) รอความชัดเจนแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนรับเอกสารข้อเสนอ (RFP) ฉบับใหม่
ทั้งนี้ ปัจจุบันอีอีซียังคงเดินหน้าต่อเนื่องและมีความคืบหน้าหลายโครงการ เกิดการลงทุนจากงบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงสร้างพื้นฐานรัฐร่วมเอกชน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริม
การลงทุนจากบีโอไอ มีมูลค่าสูงถึง 1,582,698 ล้านบาท (ณ กันยายน 2563) แบ่งเป็น 1.งบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (โครงสร้างพื้นฐาน) อนุมัติแล้ว 67,687 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนระหว่างปี 2561 – 2564 มูลค่า 50,757 ล้านบาท และเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ปี 2565 – 2567 มูลค่า 16,930 ล้านบาท 2. โครงการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน หรือ PPP ได้ผู้ลงทุน 3 โครงการ ทำสัญญาแล้วรวม 527,603 ล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในปี 2563 มูลค่า 2,565 ล้านบาท ในปี 2564 มูลค่า 55,783 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาโครงการ 469,255 ล้านบาท และ 3.ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ปี 2560 – เดือนมิถุนายน 2563 รวมเป็นมูลค่าการลงทุน 987,408 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสิ้น
ขณะเดียวกันได้มีการประสานกระทรวงต่างประเทศสร้างความร่วมมือเอกอัครราชทูตเจาะลึกชวนนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเบื้องต้นได้จัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เจาะลึก และจัดส่งข้อมูลการลงทุนให้กับเอกอัครราชทูตประจำประเทศนั้น ๆ แล้ว ได้แก่ สหราชอาณาจักร 2 บริษัท สิงคโปร์ 1 บริษัท สหรัฐอเมริกา 2 บริษัท และฝรั่งเศส 2 บริษัท
นอกจากนี้ ได้สนับสนุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นสนับสนุน 3 แกนนำกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบการแพทย์แม่นยำ จีโนมิกส์ กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และยานยนต์สมัยใหม่ เน้นเทคโนโลยีระบบ 5G การพัฒนา Platform บนพื้นฐาน 5G ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart logistics) ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การบินและด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบจัดการเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงกับสนามบินอู่ตะเภา พร้อมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะบุคลากรตรงตามความต้องการ Demand driven ภาคเอกชนร่วมจ่าย (อีอีซีโมเดล) โดยประมาณความต้องการบุคลากรในพื้นที่อีอีซี ระยะเวลา 5 ปี (2562 – 2566) จำนวน 475,000 อัตรา พร้อมพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะบุคลากร 200 หลักสูตรใหม่
ทั้งนี้ แผนดำเนินการ อีอีซีโมเดล ปี 2564 มีเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากรให้ได้ 20,000 – 30,000 คน แบ่งเป็น 1.อีอีซีโมเดล Type 1 ภาคเอกชนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด 100% หลักสูตรอาชีวศึกษา พร้อมค่าใช้จ่ายรายเดือนให้ผู้เรียนระหว่างที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงรับนักศึกษาเข้าทำงาน ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 2,516 คน 2.อีอีซีโมเดล Type 2 ภาครัฐและเอกชนสนับสนุนร่วมกัน 50 : 50 ฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อผลิตกำลังคน ปรับทักษะ เพิ่มทักษะ ระยะเร่งด่วน และได้ทำงานทันที ซึ่งได้มีการอนุมัติหลักสูตร Short Courses แล้ว 89 หลักสูตรจาก 200 หลักสูตร ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 6,064 คน และได้รับงบประมาณเพื่อเตรียมดำเนินการเพิ่มอีก 13,350 คน
ขณะเดียวกันยังเดินหน้าเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ซึ่งจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ภายในปี 2563 และจะเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ตั้งแต่ปี 2567 และการพัฒนาท่าเทียบเรืออื่น ๆ ให้มีความจุประมาณ 18 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปีภายในปี 2572
อย่างไรก็ตาม เตรียมเสนอมาตรการและระยะเวลาที่เหมาะสมในการกักตัวให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะนำเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.ในการประชุม วันที่ 7 ตุลาคม 2563 หากผ่านความเห็นชอบจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป. – สำนักข่าวไทย