กรุงเทพฯ 25 ก.ย. – รัฐมนตรีพาณิชย์ ย้ำเกษตรกรทั่วประเทศได้รับเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้สินค้า 5 ชนิด ปี 2 แน่นอน ใช้งบมากกว่า 75,000 ล้านบาทที่จะชดเชยทั้งทางตรงและทางอ้อม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานงานสัมมนาเดินหน้าประกันรายได้ปี2 เงินถึงมือรากหญ้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วยประเทศ โดยได้เชิญตัวแทนเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 3,000 คนมารับฟังที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ว่า โดยถือเป็นข่าวดีต่อเกษตรกรทั่วประเทศ หลังจากโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้าในโครงการแรกสามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี และสร้างความพอใจต่อเกษตรกรให้สามารถขายสินค้าเกษตรได้ แม้ว่าบางช่วงสินค้าเกษตรบางชนิดจะมีราคาต่ำแต่ก็ได้รับชดเชยจากภาครัฐบาลจนมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้าต่อไปอีกในรอบปีการผลิต 63/64 ไปอีก
ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักที่จะเร่งหาแนวทางการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ จึงได้จัดทำโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้าและมาตรการคู่ขนานในสินค้า 5 ในส่วนประกันรายได้ปีที่ 2 ในปีโครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2 ปีการผลิต 2563/64 ขึ้นมาอีก โดยจะเป็นโครงการที่ครอบคลุมจำนวนเกษตรกรมากถึง 7.67 ล้านครัวเรือน หรือมีวงเงินรวม 75,017.66 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินชดเชยส่วนต่าง สินค้าทั้ง 5 ชนิดกว่า 71,844.05 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการที่ครอบคลุมพืชเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ยาง ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งกรอบการดำเนินการได้ผ่านหลักที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาบ้างแล้ว และบางพืชไร่อยู่ระหว่างนำเสนอข้อความเห็นชอบ ครม. อีกครั้งก่อนจะดำเนินการจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ให้กับเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ รายละเอียด 1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี2563/64 ความคืบหน้า คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เห็นชอบไปแล้วเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 63 วงเงิน 23,495.71 ล้านบาท และอยู่ระหว่างคณะรัฐมนตรีพิจารณา ราคาและปริมาณสำหรับการประกันรายได้ ส่วนชนิดข้าว คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันรายได้ (บาท/ตัน) ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ เกษตรกรผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนประมาณ 4.5 ล้านครัวเรือน โดยต้องขึ้นทะเบียน กับกรมส่งเสริมการเกษตร ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 63 การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง ตามวันเก็บเกี่ยวที่ระบุในทะเบียนเกษตรกร โดยใช้ราคาอ้างอิงตาม ประกาศคณะอนุกรรมการกาหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ ทุกวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ และ ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชี เกษตรกร ภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิง
ส่วนมาตรการคู่ขนาน คือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ระยะเวลา 1 – 5 เดือน เป้าหมาย 1.5 ล้าน ตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 15,284 ล้านบาท รัฐชดเชยดอกร้อยละ 2.25 วงเงินจ่ายขาดค่าฝากเก็บฯ 2,250.00 ล้านบาท (ตันละ 1,500 บาท) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 สถาบันเกษตรกรรับภาระร้อยละ 1 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โรงสีรับซื้อข้าวจาก เกษตรกรเพื่อเก็บสต็อก ระยะเวลา 2 – 6 เดือน เป้าหมาย 4 ล้านตัน รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการ ผลิต 2563/2564 ไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 54,828.08 ล้านบาท
2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ปี 2563/64
2.1. ความคืบหน้า กนป. มีมติเมื่อ 19 ส.ค. 63 เห็นชอบโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2564 ระยะเวลาดำเนินการ ม.ค. 64 – ก.ย. 64 วงเงิน 8,807.54 ล้านบาท (อยู่ระหว่างคณะรัฐมนตรีพิจารณา) ราคาและปริมาณสำหรับการประกันรายได้ ผลปาล์มทลาย (18%) กก.ละ 4 บาท ครัวเรือนละ ไม่เกิน 25 ไร่ เกษตรกรผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนประมาณ 3.7 แสนครัวเรือน ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร และต้องเป็นพื้นที่ปลูกที่ให้ผลผลิตแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง จ่ายเงินทุก 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2564 ถึง 15 ก.ย. 2564 โดย ใช้ราคาอ้างอิงตามประกาศคณะอนุกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2563 – 2564 และมาตรการคู่ขนาน คือ การปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ กฟผ.รับซื้อ CPO ไปผลิตไฟฟ้า 360,000 ตัน ส่งมอบครบแล้ว และสำรอง 100,000 ตัน (ยังไม่ส่งมอบ) ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยกาหนดให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และให้ B7 และ B20 เป็นทางเลือก โดยมีผลบังคับใช้ต้ังแต่วันที่ 1 ต.ค. 63 เป็นต้นไป ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณ CPO ที่ถังเก็บน้ำมันปาล์มดิบ งบประมาณ 372.516 ล้านบาท การบริหารการนำเข้าโดย (1) กำหนดด่านศุลกากร(การนำเข้าปกติ) : นำเข้าได้เฉพาะด่าน มาบตาพุด กรุงเทพ และแหลมฉบัง (2) กำหนดด่านนำผ่าน : นำผ่านต้นทางที่ด่านกรุงเทพเพียงด่านเดียว สำหรับ ด่านปลายทางกำหนดไว้ 3 ด่าน ได้แก่ ด่านจันทบุรี (ไปกัมพูชา) ด่านหนองคาย (ไป สปป.ลาว) และด่านแม่สอด (ไปเมียนมา) นโยบายปาล์มยั่งยืน จัดทำร่าง พรบ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. …. โดย กษ.
3.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64
โดย ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 63 วงเงิน 9,788,933,798.40 บาท ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย. 63 – 31 พ.ค. 65 โดยราคาและปริมาณสำหรับประกันรายได้ หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกิน ครัวเรือนละ 100 ตัน เกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมาณ 5.2 แสนครัวเรือน ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2564 ต้องเป็นเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง ด้วยตนเองและกรรมสิทธิ์เป็นของเกษตรกร และแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยว นับจากวันเพาะปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง จ่ายเงินชดเชยตั้งแต่ 1 ธ.ค. 63 – 30 พ.ย. 64 โดยใช้ราคาอ้างอิงที่ ประกาศทุกๆ 1 เดือน และ ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วันทำการหลังการประกาศราคาอ้างอิง
มาตรการคู่ขนาน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง วงเงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันกู้ ดอกเบี้ยร้อยละ 6.50 ต่อปี เกษตรกรรับภาระร้อยละ 3.50 ต่อปี และ รัฐบาลชดเชยให้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสาปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน สินเชื่อ 1,500 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สถาบันเกษตรกรรับภาระร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลชดเชย ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ในรูปแบบมันเส้น/แป้งมัน เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อกไว้ 60 – 180 วัน
4. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 ความคืบหน้า กนย. มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้ฯ ระยะที่ 2 ระหว่าง ส.ค. 63 – ม.ค. 64 (ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม.) วงเงิน 31,013.27 ล้านบาท เกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯจำนวนประมาณ 1.83 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 18 ล้านไร่ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ราคาและปริมาณสำหรับประกันรายได้ ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ เป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไป และ เปิดกรีดแล้ว โดยมีราคาเป้าหมาย ได้แก่ (1) ยางแผ่นดิบคุณภาพดี กก.ละ 60 บาท (2) น้ำยางสด DRC 100% กก.ละ 57 บาท (3) ยางก้อนถ้วย DRC 50% กก.ละ 23 บาท โดยเจ้าของสวนได้ 60% คนกรีดได้ 40% การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างจ่ายเดือนละคร้ังตั้งแต่ ส.ค. 2563 โดยปัจจุบันได้ใช้งบประมาณของ ธกส. สำรองจ่ายแทนรัฐบาลไปก่อน
มาตรการคู่ขนาน มาตรการกำกับดูแลด้านปริมาณ ผู้ประกอบกิจการยางที่มีปริมาณการรับซื้อตั้งแต่เดือนละ 5,000 กก.ขึ้นไป แจ้งปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ไป ปริมาณคงเหลือ และ สถานที่เก็บ สินค้ายางพารา ตลอดจนให้จัดทำบัญชีคุมรายวัน ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐระหว่างต.ค.62 – ก.ย.65 โครงการสนับสนุนสินเชื่อ 5 โครงการ (ที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 1 เม.ย. 63 – 31 มี.ค. 67 โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ก.ย. 57 – 31 ธ.ค. 67 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (20,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน ม.ค. 63 – ธ.ค. 64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้าน บาท) ระยะเวลาโครงการ ปี 59 – 69 โดยสนับสนุนวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราร้อยละ 3 (ไม่เกิน 600 ล้านบาท)
5. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 ความคืบหน้าครม.มีมติเห็นชอบแล้ว ในวงเงิน1,912,210,245 บาท ระยะเวลา โครงการฯ 1 พฤศจิกายน 2563 – 30 เมษายน 2565 ราคาและปริมาณประกันรายได้ กก.ละ 8.50 บาท ณ ความชื้น 14.5% ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ เกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯจำนวนประมาณ 4.5แสนครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีระยะเวลาเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2563 – 31 พฤษภาคม 2564 การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างจ่ายเงินส่วนต่างครั้งแรกในวันที่20พฤศจิกายน 2563 และทุกวันที่ 20 ของเดือน จนถึง 31 ตุลาคม 2564
มาตรการคู่ขนาน การบริหารจัดการการนำเข้า เอกชนให้นำเข้าช่วง ก.พ.- ส.ค. / อคส. นำเข้าได้ทั้งปี กำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 : 3 แสดงราคา ณ จุดรับซื้อที่ความชื้น 14.5% และ 30% แจ้งปริมาณการครอบครอง การนำเข้า สถานที่เก็บ การตรวจสอบสตอก สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร ปี 2563/64 สำหรับสถาบันเกษตรกร รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 45 ล้านบาท โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการเก็บสตอก ปีการผลิต 2563/64 ระยะเวลา 2 – 4 เดือน รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินชดเชย ดอกเบี้ย 15 ล้านบาท ด้วยงบ คชก.เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย