กรุงเทพฯ 9 ก.ย. – สสว.โชว์ผลงานหนุนเอสเอ็มอีรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ 3 ปี ช่วยพัฒนาศักยภาพ 17,555 ราย เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านบาท
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลดำเนินงานโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ผ่านรูปแบบการรวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ ว่า ในช่วง 3 ปี (2560-2563) สสว.สามารถหนุนให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงในรูปแบบคลัสเตอร์หลายสิบกลุ่ม โดยมีผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ 17,555 ราย สามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจหรือมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1,811 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 สามารถสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาและเชื่อมโยงในรูปแบบคลัสเตอร์ 30 คลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบคลัสเตอร์ 4,246 ราย และสามารถลดต้นทุนดำเนินธุรกิจ หรือมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 472.12 ล้านบาท
“การส่งเสริมสนับสนุนให้เอสเอ็มอีรวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์สอดคล้องกับแนวการดำเนินงานหลักของ สสว. Connext คือ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมและขยายช่องทางทางการตลาด” นายวีระพงศ์ กล่าว
ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการปี 2563 สสว.ได้ดำเนินการร่วมกับ 7 หน่วยงาน ดังนี้ 1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมคลธัญบุรี ดำเนินการกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร 2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ปลากัด 3. มหาวิทยาลัยวิทยาลัยนเรศวรดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ Health Retreatment 4. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ 5. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ Sport Economy 6. สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ BCG Fashion Lifestyle และ 7. สถาบันอาหาร ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์มะพร้าว สับปะรด และกระเทียม
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างคลัสเตอร์ใหม่ ๆ แต่สามารถผลักดันและต่อยอดการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น คลัสเตอร์ปลากัด ได้สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งสมาคมปลากัดแห่งประเทศไทย ผลักดันให้มีการจัดทำมาตรฐานปลากัดและจัดประกวดปลากัดสวยงาม ทำให้มีการยกระดับมูลค่าของปลากัดทั้งเชิงราคาในท้องตลาดและการส่งออก พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลากัด โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น Hub การส่งออกปลากัดในฐานะปลาสวยงามไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน อินเดีย และเยอรมนี
ส่วนคลัสเตอร์คอสเพลย์ (Cosplay) ได้จัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคอสเพลย์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้คอสเพลย์ไทยไปสู่มาตรฐานระดับโลก นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเกษตรในการนำเทคโนโลยีขั้นต้นมาต่อยอด พัฒนา ขึ้นเป็นถุงตากแห้งข้าว ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการอบข้าวเปลือกให้ได้ความชื้นตามมาตรฐาน โดยมีจุดเด่นสามารถเคลื่อนย้ายได้ ช่วยประหยัดเวลาการเก็บข้าว สามารถลดระยะเวลาในการตากแห้งข้าวเปลือกได้ จากเดิม 5 วัน เหลือเพียง 3 วัน และสามารถลดต้นทุนค่าแรงลงได้กว่า 40 % การดำเนินงานดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างความสำเร็จของการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ในการสร้างพลังต่อยอดองค์ความรู้ และเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างยั่งยืนต่อไป.-สำนักข่าวไทย