กรุงเทพฯ 7 ส.ค. – เอ็กซิมแบงก์จับมือ ธ.ก.ส. ผลักดันเอสเอ็มอีเกษตรจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ขยายส่งออกสินค้าไปตลาด CLMV และอาเซียน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานพันธมิตรเปิดกิจกรรม “Global Business Matching 2020 : เปิดโลกการค้า เจรจาธุรกิจ พิชิตตลาดส่งออก” เพื่อให้ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีไทยภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ขยายส่งออกไปตลาด CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ที่ยังมีกำลังซื้อและความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยอีกมาก ท่ามกลางการปรับตัวของผู้บริโภคและภาคธุรกิจจากผลกระทบของโควิด-19 เป็นการส่งเสริมการจ้างงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรของไทย ขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและการพัฒนาประเทศของไทยและภูมิภาคอาเซียน
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมากิจกรรมฯ ประสบความสำเร็จในการจับคู่ธุรกิจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเกษตรส่งออกไปผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 500 ล้านบาท ส่วนกิจกรรมปีนี้คาดว่าจะสามารถสร้างยอดส่งออกไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้ส่งออกสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญมีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และเอสเอ็มอียังมีการจ้างงานเป็นสัดส่วนถึง 30% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ครอบคลุมกว่า 6.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่กว่า 40% ของประเทศไทย
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า การสนับสนุนเอสเอ็มอีตามกิจกรรมดังกล่าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พัฒนาเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้สามารถจำหน่ายได้ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร โดยความร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่าย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตให้เข้าสู่มาตรฐานสากล ขณะที่เอ็กซิมแบงก์จะสนับสนุน 3 ด้าน ได้แก่ ข้อมูลความรู้ บริการทางการเงินทั้งสินเชื่อและประกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ และเครือข่ายธุรกิจ ขณะที่ภาคีเครือข่ายพันธมิตรร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรม เพื่อยกระดับผู้ผลิตภาคการเกษตรให้ผันตัวเป็นผู้ส่งออกที่สามารถส่งมอบสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยเฉพาะ CLMV และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ได้อย่างประสบความสำเร็จ ด้วยเครือข่ายทางธุรกิจที่เชื่อมโยงครบวงจร ตั้งแต่ผู้ผลิตถึงผู้ส่งออกและผู้ซื้อในต่างประเทศ
สำหรับหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย ธ.ก.ส. วว. และภาคีเครือข่ายพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ ส.อ.ท. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (วพ.) กระทรวงสาธารณสุข องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) และเอ็กซิมแบงก์.-สำนักข่าวไทย