กรุงเทพฯ5 ส.ค. – สำนักงาน กกพ.หารือ กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าอีวี เน้นอัตราถูกแต่มั่นคง ด้านเอกชนเสนอ ใช้สำรองไฟฟ้าของประเทศที่มีสูงถึงร้อยละ40 มาคำนวณจ่ายเพียงค่าความพร้อมจ่ายและมาร์จิ้น และหวัง รมว.ด้านเศรษฐกิจคนใหม่จะเร่งแผนสนับสนุนอีวี ทั้งด้านภาษีและให้รถราชการกรณีเปลี่ยนใหม่ให้มาใช้อีวี
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ สำนักงาน ฯ กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งหาข้อสรุป เรื่องค่าไฟฟ้า ที่จะเรียกเก็บจากค่าบริการให้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี ) ที่คาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ซึ่งดูถึงหลากหลายเรื่อง ด้านความมั่นคงของระบบ และอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม จูงใจให้เกิดการใช้ ล่าสุด ได้หารือทางเทคนิคกับ 3 การไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าในเรื่อง Low Priority ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป โดยในเรื่องนี้ได้มองถึงภาวะหากเกิดปัญหาไฟฟ้าหลุดจากระบบ หรือไฟฟ้าขาดแคลนในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง ก็จะตัดบริการเรื่อง อีวี เป็นอันดับแรกๆ โดยมุ่งเน้น ความมั่นคงปลอดภัยของการใช้ไฟฟ้าสาธารณะ เป็นส่วนสำคัญที่สุด เช่น ไฟฟ้าในโรงพยาบาลเป็นต้น
“อัตราค่าไฟฟ้าอีวี ชั่วคราว คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช. )วันที่ 19 มี.ค.63 อนุมัติมาให้ใช้ 2 ปี ช่วงนี้ ยังไม่ได้ประกาศใช้ เพราะยัง คุยเรื่อง Low Priority ไม่จบ โดยระบบจะตัดออกกรณีที่มีการใช้ไฟฟ้าในระบบสูง เนื่องจากรถยนต์สามารถเลือกเวลาชาร์จไฟฟ้าได้ ส่วนอัตราอนาคต ก็จะแน่นอนว่าราคาจะต้องถูกและดูถึงความมั่นคงของระบบ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางโลกที่รถอีวีมีบทบาทแทนรถสัปดาปที่ใช้น้ำมันมากขึ้น”นายคมกฤช กล่าว
ทั้งนี้ กพช. เมื่อวันที่ 19 มี.ค.63 รับทราบรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ และศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า โดยเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าชั่วคราว สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use (TOU)) หรือ เท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV) โดยอัตราดังกล่าวต้องใช้กับเงื่อนไขการบริหารจัดการแบบ Low Priority หรือการใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีความสำคัญลำดับรอง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป และสามารถควบคุม ปรับลด หรือตัดการใช้ไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ เมื่อมีข้อจำกัดด้านความจุไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น และรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติทางเทคนิคของการไฟฟ้า ฝ่ายจำหน่ายตามพื้นที่รับผิดชอบ และใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือจนกว่าจะมีประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทพลังงานบริสุทธิ์จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า ทางบริษัทได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้รถยนต์ พบว่า ผู้ที่จะใช้รถอีวี ห่วงทั้งด้านเทคโนโลยี ราคาแบตเตอรี และค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องรถอีวี และสถานีชารจ์จะต้องไปด้วยกัน คือชาร์จไฟฟ้าได้เร็ว ต้นทุนแข่งขันกับน้ำมันได้ โดยที่ผ่านมาก็ทราบกันดีว่าอีวีเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลพิษ และการจะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด นอกจากภาคเอกชนร่วมดำเนินการแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะร่วมสนับสนุนอย่างไร เพราะทั่วโลกก็จะมีการอุดหนุนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น ให้เงินอุดหนุนเปลี่ยนรถเป็นอีวี การอุดหนุนเรื่องภาษีต่างๆ เป็นต้น โดยในส่วนของไทยก็ควรจะให้ รถราชการที่เปลี่ยนใหม่ทดแทนรถเดิมที่มีราว 5 แสน ถึง 1 ล้านคัน หากเปลี่ยนมาใช้อีวี ก็จะทำให้ตลาดเกิดความต้องการใช้ การแจ้งเกิดของการผลิตในไทยก็จะดำเนินการได้เร็วขึ้น
นายอมร กล่าวว่า ทาง EA ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวบรวมข้อมูล เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งหวังว่า รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่จะเข้ามาทำงานใหม่ ทั้ง รองนายกรัฐมนตรี ,รมว.คลัง,รมว.พลังงาน จะร่วมผลักดันต่อ เพราะหากไทยไม่เร่งสนับสนุนเรื่องนี้ ฐานการผลิตรถยนต์ที่ไทยติดอันดับโลก อาจจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะรถสันดาปคงจะลดลง และรถอีวีก็จะเข้ามาทดแทนเพิ่มมากขึ้น ก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง การจ้างงาน และเศรษฐกิจ ดังนั้น นอกจากรัฐบาลจะลดภาษีรถยนต์อีวีนำเข้า เช่นในปัจจุบันแล้วก็ต้องพิจารณาลดภาษีชิ้นส่วนต่างๆ หรือลดภาษีด้านอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตยานยนต์อีวีในไทยเพิ่มมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ในส่วนของค่าไฟฟ้าอีวี ก็เห็นด้วยที่นำระบบ Low Priority มาใช้ ส่วนค่าบริการชาร์จไฟฟ้าในอนาคต ควรจะอยู่ในอัตราที่ต่ำ โดยคำนวณจาการนำสำรองไฟฟ้าของประเทศมาใช้ ซึ่งปัจจุบันมีถึงร้อยละ 40 ของกำลังผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากไม่นำมาใช้กับอีวี ก็จะเป็นของเหลือใช้ และเป็นภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของคนในประเทศในที่สุด ซึ่งหากนำมาใช้กับอีวี ก็ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศไม่เพิ่มขึ้นด้วย โดยน่าจะใช้การคำนวณจากค่าไฟฟ้า AP (Availability Payment) หรือ ค่าความพร้อมจ่าย บวกกับค่ามาร์จิ้น หรือกำไรที่ไม่มากเกินไป
“ปัจจุบัน อีเอ กับพันธมิตร มีการติดตั้งสถานนีชาร์จไฟฟ้า สำหรับอีวี เกือบ 600 จุด โดยเดิมทีเดียว เดิมภาครัฐคิดค่าไฟฟ้าเป็นแบบต้องจ่ายค่าดีมาน์ดชาร์จ ราว 2-3 หมื่นบาท/แห่ง/เดือน จุดที่ติดตั้งจึงไม่เปิดให้บริการ ซึ่งหากภาครัฐประกาศใช้ค่าไฟฟ้าอัตราชั่วคราวที่ประมาณ 2.64 บาทต่อหน่วย ค่าบริการชาร์จต่อครั้งก็อยู่ราว 100-250 บาท ซึ่ง อัตราที่จะประกาศใช้ใหม่ หากนำไฟฟ้าสำรองประเทศมาคำนวณ ก็ควรได้ในอัตราต่ำ จูงใจ และเกิดประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะต่ำลงด้วย”นายอมรกล่าว . – สำนักข่าวไทย