กรุงเทพฯ 15 ธ.ค.-ร้านค้ายางอาจสับสน เพราะคูปอง “ช้อปช่วยชาติ”ส่งไม่ทัน ด้าน กยท.ออกมารับรอง เปลี่ยนยางได้ทันที ทางผู้ผลิตยาง 5รายส่งคูปองตามหลังได้ ด้าน FIT Auto พร้อมเปลี่ยนยาง
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า มาตรการช้อปช่วยชาติสำหรับยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถจักรยานยนต์ และยางล้อรถจักรยาน การลดหย่อนภาษีเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด คือ ซื้อจากผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในวันที่ 15 ธ.ค.61-16 ม.ค.62 ในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท ผู้เสียภาษีจะต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และคูปองที่มีตราประทับของร้านค้าโดยคูปอง 1 ใบ ต่อยาง 1 เส้น โดย คูปองนี้ ทาง กยท.ได้จัดส่งให้ผู้ผลิตยางฯที่เข้าร่วมโครงการ เบื้องต้นมี 5 ราย ขณะนี้กำลังทยอยขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม ซึ่งทางผู้ผลิตจะส่งคูปองให้กับผู้เปลี่ยนยาง โดยในวันเริ่มโครงการในวันนี้ อาจจะส่งคูปองไม่ทัน แต่ก็ไม่ต้องกังวล ทางผู้ประกอบการสามารถส่งให้ภายหลังได้ แล้วทางประชานชนใช้แนบเอกสารสำหรับการคำนวณภาษี ซึ่งปกติแล้วจะยื่นคำนวณภาษีได้ถึงสิ้นเดือนมีนาคม
“วันนี้ หากยังไม่ได้คูปอง กยท.ก็ยังไม่ต้องกังวล ไปเปลี่ยนยาง ไปร้าน แล้วถามว่ามียาง ยี่ห้อที่ร่วมโครงการช้อปช่วยชาติ หากมีก็เปลี่ยนเลยต้องมีใบกำกับภาษี ส่วน คูปอง กยท.นั้น เป็นหน้าที่ผู้ผลิตยาง ส่งตามหลังได้ เพราะมีเวลาเสียภาษีถึง มี.ค. คาด จะมียอดซื้อยางไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นตัน เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราและกระตุ้นราคาซื้อขายปรับตัวสูงขึ้น”นายณกรณ์ กล่าว
นายณกรณ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท อาลีบาบา ได้เข้าหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กยท.เพื่อหาแนวทางการจัดตั้งตลาดซื้อขายยางแบบส่งมอบจริงผ่านระบบออนไลน์ในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการยางพาราของประเทศจีน ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดเพิ่มช่องทางการซื้อขายยางพารารูปแบบใหม่ เน้นจุดเด่นที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อประมูลยางพาราได้โดยตรง และนัดเวลาการส่งมอบสินค้าได้ตามความต้องการ โดย กยท. จะทำหน้าที่ควบคุมและรับรองคุณภาพมาตรฐานยางพาราที่ส่งเข้าตลาดทั้งหมด คาดว่าปริมาณการซื้อยางพาราผ่านระบบออนไลน์จะไม่ต่ำกว่า 2 แสนตัน/ปี
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการช้อปช่วย ชาติกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตล้อยางรับซื้อยางพาราจาก กยท. หรือสถาบันเกษตรกรที่กยท.รวบรวม นำไปเป็นวัตถุดิบผลิตล้อยางเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ โดยขณะนี้มีบริษัทที่พร้อมดำเนินการได้เลยได้แก่ บริษัทไออาร์ซี จะรับซื้อยางพารา 100,00 กิโลกรัม บริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชันแนล 300,000 กิโลกรัม บริษัทเอ็นดีรับเบอร์ 30,100 กิโลกรัม บริษัทดีสโตน 750,000 กิโลกรัม และบริษัทโอตานิเรเดียล 255,000 กิโลกรัม รวม 5 บริษัท 1,706,000 กิโลกรัม หรือ 1,706 ล้านตัน
นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิตล้อจากต่างประเทศที่มีโรงงานในไทยสนใจเข้าร่วมโครงการอีกหลายแห่งเช่น บริษัทไทยบริดจ์สโตน บริษัทสยามมิชลิน ซูมิโตโมรับเบอร์ และโยโกฮาม่า แต่เนื่องจากเดิมเคยซื้อยางพาราจากบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทย 5 แห่งหรือซื้อจากต่างประเทศ บริษัทเหล่านี้จะเร่งหารือกับบริษัทแม่ที่ต่างประเทศเพื่อปรับระเบียบการจัดซื้อของบริษัทเพื่อมารับซื้อยางพาราจากกยท. หรือสถาบันเกษตรกรที่กยท. รวบรวม
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจหล่อลื่น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีโออาร์ กล่าวว่า มาตรการช้อปช่วยชาติ ครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางและเพิ่มยอดขายยาง โดยที่ผ่านมามีลูกค้าแสดงความสนใจเข้ามาสอบถามเป็นจำนวนมาก และทางบริษัทได้เตรียมพร้อมในการให้บริการแก่ผู้เปลี่ยนล้อยาง ผ่าน ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto ซึ่งมี 40 สาขาทั่วประเทศ และเพื่อร่วมสนับสนุนมาตรการของภาครัฐ จึงขยายโปรโมชัน 4 คุ้ม จากเดิมสิ้นสุดสิ้นปีนี้ ขยายเป็นสิ้นสุด 16 ม.ค.2562 ซึ่งโปรโมชั่นดังกล่าว นับเป็นฉลองครบรอบ 4 ปีของ FIT Auto โดย สามารถนำรถเข้ามารับคำปรึกษา และรับบริการตรวจเช็กสภาพรถได้ฟรีถึง 30 รายการ พร้อมมอบสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า FIT Auto เมื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ที่ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto ทุกสาขาทั่วประเทศ ก็สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ประกันอุบัติเหตุฟรี จาก บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ด้วยความคุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท เป็นระยะเวลา 40 วัน
-สำนักข่าวไทย