กรุงเทพฯ 24 เม.ย.- ผลศึกษาผลกระทบจากสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐกับจีนต่อประเทศไทย พบไทยมีโอกาสขยายมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 8,000-20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.01-0.04 ของ GDP ไทย
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐกับจีน กรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายใช้มาตรการทางภาษีกีดกันสินค้าระหว่างกัน จะทำให้สินค้าของทั้ง 2 ฝ่ายที่ส่งออกระหว่างกัน จะถูกส่งเข้ามาขายในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันทั้ง 2 ชาติก็จะหันมานำเข้าสินค้าจากไทยเข้าไปทดแทนเช่นกัน ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าในภาพรวมผลบวกต่อไทย มีมากกว่าผลลบ กล่าวคือ ส้มหล่นที่ไทย ได้อานิสงส์จากการส่งออกเพิ่มขึ้น 8,000-20,000ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.10-0.25 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย และจะส่งผลให้ไทยมี GDP เพิ่มขึ้น 2,000-5 ,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.01-0.04 ของ GDP ไทย ดังนั้น ไทยจะตัองเร่งปรับตัวด้วยการปรับผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆให้มีคุณภาพสูงขึ้น แม้ว่าอนาคตอาจจะมีสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในไทยบ้าง แต่เชื่อว่าการใช้มาตรการมาตรฐานสินค้าเข้ามาดูแลและควบคุมจะทำให้ไทยได้สินค้ามีคุณภาพสูงขึ้นได้
สำหรับ สินค้าที่ไทยได้รับประโยชน์จากกรณีสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนได้แก่ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าที่ไทยเสียประโยชน์ได้แก่ สารเคมี ยา เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก อลูมิเนียม รถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยได้รับประโยชน์จากกรณีจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ได้แก่ ผลไม้ ข้าวสาลี ข้าวโพด และผลไม้แปรรูป และ สินค้าที่ไทยเสียประโยชน์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง ฝ้าย เครื่องบินและชิ้นส่วนอุปกรณ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเสนอแนะให้ไทย สร้างห่วงโซ่การผลิตของจีนกับสหรัฐให้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงสร้างความร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐ เช่น FTA ไทย-สหรัฐ และผลักดัน RCEP หรือ ASEAN + 6 ให้เป็นรูปธรรม ส่วนกรณีที่ไทยสามารถร่วมมือกับทางอาลีบาบานั้น โดยรวมไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมในการขายสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มสินค้า ข้าว ผลไม้เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย