กรุงเทพฯ 20 ก.พ.-เลขาธิการคปภ. เน้น Technology
Disruption เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจประกันภัยและเพิ่มโอกาสให้กลุ่มสตาร์ทอัพ
รวมทั้งช่วยยกระดับหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในเชิงข้อบทกฎหมายและกระบวนการกำกับดูแลให้มีความทันสมัย
นายสุทธิพล ทวีชัยการ
เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในการร่วมงานเปิดตัวโครงการ
F13
ศูนย์ทดสอบและพัฒนาสตาร์ทอัพด้านฟินเทค ณ อาคาร Knowledge Exchange ถนนกรุงธนบุรี กรุงเทพมหานคร จัดขึ้นโดยสมาคมฟินเทคประเทศไทย ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ
“อนาคตธุรกิจประกันภัย” ว่าการเข้ามาของพัฒนาการด้านเทคโนโลยี
หากมีการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และมองในภาพบวกถือเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีที่จะช่วยให้ธุรกิจประกันภัยสามารถพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานและเสริมสร้างโอกาสการทำธุรกิจ
ทั้งในส่วนของภาคประกันภัยและธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพด้านฟินเทคซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตได้ในตลาดการเงินของประเทศไทย
รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันทั้งในภาคส่วนธุรกิจประกันภัย ธุรกิจฟินเทค
และหน่วยงานกำกับดูแลมากยิ่งขึ้น
และในขณะเดียวกันการเข้ามาของพัฒนาการด้านเทคโนโลยีก็จะช่วยยกระดับหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในเชิงข้อบทกฎหมายและกระบวนการกำกับดูแลให้มีความทันสมัยและสอดรับกับพัฒนาการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างทันที
เช่น การนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการสำรวจภัย
หรือการติดต่อลูกค้าผ่านระบบวีดีโอและเสียงในการบริการการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
สิ่งต่อมาคือการพัฒนาระบบการทำงานของบริษัทประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เช่นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบ real time เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดมาใช้งาน
หรือการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ให้เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการวิเคราะห์และกรองข้อมูลต่างๆ ของบริษัทประกันภัย
การนำเทคโนโลยีมาผนวกกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค
เพื่อใช้ประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงด้านการประกันภัยก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า หน่วยงานกำกับดูแลเองก็ต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการกำกับดูแลเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวม ประมวลผล
และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบอัตโนมัติ
เพื่อพิจารณาตรวจสอบและรายงานว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ
ครบถ้วนหรือไม่หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “SupTech” หรือ Regulatory
Technology for supervisors or regulators รวมทั้งต้องมีการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลไม่เฉพาะในสาขาเดียวกัน
แต่ต้องมีความร่วมมือกันในต่างสาขา (Cross-Sectoral Co-ordination) โดยต้องคำนึงถึงการออกกฎระเบียบที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับใช้กับเทคโนโลยีใหม่
ๆ การกำกับดูแลควรจะอยู่รูปของการกำกับดูแลแบบเว้นระยะห่าง
ไม่เข้าไปบังคับอย่างเคร่งครัด
โดยอาจใช้กระบวนการให้เข้ามาทดลองการปรับใช้เทคโนโลยีกับการประกอบธุรกิจภายใต้กรอบหลักเกณฑ์ที่ผ่อนคลาย
หรือที่เรียกว่า Sandbox หรืออาจออกหลักเกณฑ์ในรูปของแนวปฏิบัติ
หรือ Guideline ที่มีลักษณะเป็นการให้คำแนะนำในเชิงกรอบการดำเนินการ
ไม่ได้บังคับให้ต้องอยู่ในกรอบเหมือนบทบัญญัติกฎหมาย
นอกจากนี้ Technology Disruption ยังเพิ่มโอกาสให้กลุ่มสตาร์ทอัพด้านฟินเทคของไทยสามารถใช้ช่องทางของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจประกันภัย
พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อช่วยให้การทำธุรกิจประกันภัยง่ายขึ้น หรือ
นวัตกรรมที่ช่วยให้บริษัทประกันภัยหรือคนกลางประกันภัยไม่ทำผิดกฎระเบียบด้านประกันภัยฯลฯ–สำนักข่าวไทย