กรุงเทพฯ 10 ธ.ค.- เงินบาทอ่อนค่าลงจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาดส่วนหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ว่า เงินบาททรงตัวในกรอบแคบๆ ที่ระดับประมาณ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะทยอยอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทขยับอ่อนค่าลง หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยได้รับแรงหนุนมากขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด เช่น ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ตลอดจนความหวังต่อมาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่สภาคองเกรสสามารถผ่านร่างกฎหมายต่ออายุการจัดสรรเงินทุนเป็นการชั่วคราวให้แก่หน่วยงานรัฐบาล ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐฯ จนถึงวันที่ 22 ธ.ค. นี้
ในวันศุกร์ (8 ธ.ค.) ที่ผ่านมาเงินบาทอยู่ที่ 32.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 ธ.ค.) สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคงต้องติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ และมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยและเศรษฐกิจปีหน้าของเฟด (12-13 ธ.ค.) ตลอดจนสัญญาณเกี่ยวกับการผลักดันแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ ข้อมูลเงินทุนระหว่างประเทศเดือนต.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพ.ย.ของจีน ตลอดจนดัชนี PMI ขั้นต้นประจำเดือนธ.ค. ของประเทศชั้นนำหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,706.52 เพิ่มขึ้น 0.40% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณ 2.27% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 52,137.24 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 538.86 จุด ลดลง 1.07% จากสัปดาห์ก่อน ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางแรงกดดันจากการขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ อย่างไรก็ดี ดัชนี SET กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีแรงหนุนจากเงินลงทุนที่ไหลเข้าใน LTF/RMF อีกทั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ยังได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,695 และ 1,685 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,720 และ 1,730 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกเดือนพ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของประเทศแถบยุโรป-สำนักข่าวไทย