ทำเนียบฯ 24 ก.ค. – บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจรับมือภาษีสหรัฐ ย้ำทุกหน่วยงานต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/2568 หลังเศรษฐกิจไทยประสบปัญหาขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ และสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเมื่อเทียบกับ GDP รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแก้ไข ปัญหาโดยเร่งด่วน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับแข็งแกร่งได้อีกครั้ง ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวงเงิน 157,000 ล้านบาท
“งบประมาณถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงขอให้ร่วมกันทบทวนโครงการ อย่างรอบคอบและสอดคล้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน” นายภูมิธรรม กล่าว


นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า งบกลางกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท ต้องกันเอามาใช้รองรับผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐ ในส่วนของคนทำงานอยากได้อัตราภาษีตามข้อเสนอ สำหรับปัญหาเศรษฐกิจตามแนวชายแดน ต้องให้นายภูมิธรรม ตอนในเรื่องนี้ ส่วนข้อเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมให้กับสหรัฐ ทีมไทยแลนด์เตรียมเสนอในวันนี้ จากกระแสข่าวระบุว่าได้เสนอไปแล้วเมื่อวาน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบายภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลักการและแนวทางการทบทวนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องคำนึงถึงเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การตรวจสอบ และให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบ และการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อตอบโจทย์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอนาคต ขอให้หน่วยงานรัฐจัดสรรงบประมาณ ติดตามความก้าวหน้าของการจัดสรรงบประมาณโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.bb.go.th/peoplewatch/ ได้โดยตรง หรือเว็บไซต์สำนักงบประมาณ https://www.bb.go.th/
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ บรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด นายภูมิธรรม โทรศัพท์ติดตามความคืบหน้า ปัญหาความรุนแรงชายแดนไทย-กัมพูชา จึงต้องจับตารัฐบาล มีแนวทางในการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดนอย่างไร จากเดิมมีกำหนดประชุมพิจารณา นำงบวงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในแต่ละจังหวัดนำกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ ครอบคลุมทั้งกลุ่มเกษตรกร เอสเอ็มอีในประเทศ และผู้ส่งออก การพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ในด้านต่างๆ เพื่อนำงบส่วนใหญ่ รองรับการดูแลผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐ ดูแลอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย บางส่วนใช้นำไปพัฒนาศัยภาพบุคคล เตรียมผลหารือ ส่วนงบพัฒนา ปอท. ให้จัดสรรงบในปี 69 เตรียมเสนอที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า .-515- สำนักข่าวไทย