กรุงเทพฯ 12 พ.ค.-นักเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ระบุ จีน-สหรัฐ ลดกำแพงภาษี 115% 90 วัน ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโลก แนะไทยเจรจาให้ภาษีต่ำกว่า 30% หวั่นแข่งกับสินค้าจีนลำบาก
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ(DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การบรรลุข้อตกลงเรื่องภาษีนำเข้าของจีนและสหรัฐอเมริกา เป็น สัญญาณบวกต่อระบบการค้าโลกและเศรษฐกิจโลก ข้อตกลงในการลดภาษีระหว่างกันลง 115% เป็นเวลา 90 วันทำให้อัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯต่อสินค้าจีนลดลงเหลือเพียง 30% ขณะที่ภาษีนำเข้าของจีนเก็บจากสินค้าสหรัฐฯลดลงเหลือเพียง 10% ทำให้การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เดินไปได้ตามปรกติ นับ เป็นการปรับสมดุลทางการค้าที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตาม หลังจาก 90 วัน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก หากยังคงอัตราภาษีในระดับเดิม 10-30% ต่อไปปัญหาแรงกดดันเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ การขาดแคลนสินค้าในสหรัฐอเมริกาจะบรรเทาลงอย่างชัดเจน ห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายการผลิตของบรรษัทข้ามชาติปรับตัวในทิศทางดีขึ้น จีดีพีโลกจะปรับตัวในทิศทางดีกว่าคาดการณ์เดิม ของ IMF และ ธนาคารโลก การขึ้นกำแพงภาษีนอกจากกระทบต่อการเติบโตของการค้า เศรษฐกิจโดยรวมแล้วยังกระทบต่อการจ้างงานโดยรวม กระทบต่อผลิตภาพ รวมทั้งกดทับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการต่างๆ การผ่อนคลายลงของสงครามการค้าย่อมทำให้เกิดผลบวกต่อหลายภาคเศรษฐกิจ
ดร. อนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่งออกและเศรษฐกิจไทยช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีอาจดีกว่าคาดหากไทยสามารถเจรจาให้อัตราภาษีลดลงมาต่ำกว่า 30% หากไทยถูกเก็บภาษีในอัตรา 36% ย่อมไม่สามารถแข่งขันจากสินค้าจากจีนได้ การทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา 36% เพื่อป้องกันไม่ให้จีดีพีของไทยขยายตัวต่ำกว่า 2% หากไม่สามารถเจรจาลดภาษีได้เลย
รัฐบาลต้องเจรจาดึงภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 36% ลงมาให้ต่ำกว่า 30% ได้ หากลงมาอยู่ระดับ 10-15% เศรษฐกิจและภาคส่งออกไทยน่าจะยังประคับประคองไปได้ ยอมรับ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของไทย คือ เสถียรภาพของรัฐบาล หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือทีมเจรจาในระหว่างการเจรจาอาจทำให้เกิดอุปสรรคได้ เสถียรภาพทางการเมือง เป็นปัจจัยเสี่ยงเฉพาะของไทย ส่วนผลกระทบภาษีนำเข้า กระทบทั่วโลก การไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ ไทย เสียเปรียบในการเจรจา และไม่สามารถเริ่มการเจรจากับสหรัฐฯได้ตามกรอบเวลาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย.-515 สำนักข่าวไทย