ก.พาณิชย์ 21 เม.ย.-“พิชัย” รมว.พาณิชย์ ยืนยันไปสหรัฐแน่นอน เชื่อเจรจาได้ รับส่งออกข้าวไทยคงไม่เหมือนเดิม ตั้งเป้าปี 68 ส่งออก 7.5 ล้านตัน ด้านเอกชนเผยช่วงชะลอมาตรการขึ้นภาษีทรัมป์ 90 วัน ข้าวไทยเร่งส่งออกเพิ่มขึ้น20% ขณะที่สมาคมชาวนาวอนเร่งจ่ายไร่ละพันช่วยข้าวนาปรัง โอดตอนนี้ขาดทุนแล้ว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงทิศทางและนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมข้าวไทยว่า ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศจัดประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention 2025 (TRC 2025) ครั้งที่ 10 ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นเวทีเชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และเกษตรกรไทย ทั้งนี้อยากเห็นความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยดีขึ้นควบคู่กับคุณภาพข้าวที่เพิ่มขึ้น เมื่อเดินทางไปประเทศไหน ทุกคนก็พูดถึงข้าวไทย แม้ราคาจะสูงกว่า แต่คุณภาพข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ดังนั้น ต้องทำให้ข้าวขาวมีผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน พร้อมมองหาตลาดใหม่ๆเช่น ทวีปแอฟริกา ที่สามารถเจรจาขายข้าวไทยได้มากกว่า 400,000 ตัน ซึ่งมีศักยภาพและประชากรจำนวนมาก
แม้จะได้รับผลกระทบจากการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวและลดราคาค่อนข้างมาก แต่ต้องทำให้ข้าวไทยแตกต่าง มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เพื่อรักษาราคา และสร้างภาพจำให้ผู้บริโภคทั่วโลก โดยภาพรวมการส่งออกไทยไตรมาสแรกยังดี โดยเดือนมกราคมขยายตัวได้ 13.6% กุมภาพันธ์ ขยายตัวได้ 14% ซึ่งเดือนมีนาคมกระทรวงพาณิชย์จะแถลงในวันที่ 24 เมษายนนี้ ยันยันได้ว่ายังขยายตัวได้เกิน 2 หลัก แต่ยอมรับว่า นโยบายทรัมป์ 2.0 น่าจะมีผลต่อการส่งออก ในช่วงไตรมาส 2 โดยปีนี้ตั้งเป้าส่งออก 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ระดับ 9.95 ล้านตัน ถือเป็นปริมาณสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 สร้างรายได้กว่า 225,656 ล้านบาท (ประมาณ 6,434 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 เมษายน 2568 การส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 2.477 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 19.31 เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและสภาพอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูกในหลายประเทศ ทำให้ผลผลิตรวมสูงขึ้น ขณะที่ประเทศผู้นำเข้ามีแนวโน้มลดปริมาณนำเข้า
ส่วนความคืบหน้า การเดินทางไปสหรัฐฯ ยืนยันว่า จะเดินทางไปแน่นอน แต่รอการตอบรับและกำหนดจากผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์ )ก่อน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ติดต่อมาตลอด เพียงรอคิวว่าจะได้เมื่อไหร่ เชื่อว่าจะมีผลการเจรจาที่ดี และมีความสำเร็จสูง แต่จะต้องใช้ระยะเวลาบ้าง ส่วนจะเดินทางเมื่อไหร่ จะต้องรอนายพิชัย ชุณหวชิร รอฃนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้แถลงอีกครั้ง
ด้านนางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า งาน TRC 2025 ปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 ราย จากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้แทนภาครัฐ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรตัวแทนจากกลุ่มอาชีพภาคเกษตร โดยมีกิจกรรม รวมถึงการนำเสนอแนวทางความยั่งยืนของอุตสาหกรรมข้าวไทยที่สอดคล้องกับธีมงาน ‘Global Rice from Thai Legacy’ เพื่อสะท้อนรากฐานภูมิปัญญา วัฒนธรรม และความยั่งยืนของข้าวไทย นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออก คาดว่าจะสร้างมูลค่าคำสั่งซื้อกว่าแสนตัน หรือ 2,000 ล้านบาท พร้อมการหารือกับ Trader รายสำคัญในการขยายตลาดข้าวไทย โดยเฉพาะในแอฟริกาและตะวันออกกลาง
ด้าน ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์การค้าข้าวอาจเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุค “Trump 2.0” ซึ่งอาจส่งผลถึงต้นทุนขนส่งและโครงสร้างตลาดในอนาคต มองว่า จะไม่ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปสหรัฐลดลง เนื่องจากผู้บริโภคในสหรัฐเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อจึงเชื่อว่าจะไม่ลดปริมาณการบริโภค ทั้งนี้ไทยส่งออกจข้าวหอมมะลิไปสหรัฐ 6 -6.5แสนต่อปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของการส่งออกข้าวไทย แต่ที่ห่วงคือต้องแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกออกข้าว อย่างเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ซึ่งมีต้นทุนส่งออกถูกกว่าไทย พร้อมฝากถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการหามาตรการรับมือ เช่น การหาพันธุ์ข้าวใหม่ ที่ตรงกับความต้องการของตลาด มีผลผลิตต่อไร่สูง ต้นทุนต่ำเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
ยอมรับว่าในช่วงชะลอการขึ้นภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าของสหรัฐ 36% เป็นเวลา 90 วัน มีการเร่งส่งออกข้าวไปยังสหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 20% ซึ่งขณะนี้ไทยถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% จากเดิมที่ไม่เสียภาษี โดยไตรมาส 1 ปี 2568 ส่งออกไปประมาณ 200,000 ตัน
“หากพ้นกำหนด 90 วันแล้วไทยถูกเก็บภาษี 36% ยอมรับว่าจะกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง ซึ่งต้องติดตามว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ในการค้าขายสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความไม่แน่นอน ซึ่งวันนี้เรายังไม่รู้ว่าภาษีเราจะเป็น 10% 15% หรือ 20% และมีค่าใช้จ่ายตรงอื่นอีกหรือไม่ที่จะเพิ่มขึ้นมาทำให้การค้าขายลำบาก” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าว
ขณะที่นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่าหลังจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวทำให้ปริมาณการส่งออกเข้าไทยหายไป 50% ราคาข้าวเปลือกความชื้น 25% ราคาลดลงมาอยู่ที่ 6,200 -7,000 บาท/ตัน เคยเจอราคาต่ำสุดที่ 5,500 บาท/ตัน ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 6,500 -7,000 บาท/ตัน เท่ากับว่าตอนนี้ขาดทุนแล้ว ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือข้าวนาปรังไร่ละ 1,000 บาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ทั้งนี้ชาวนาลงทะเบียนไว้แล้วกว่า 300,000 ครอบครัว ซึ่งตนเองได้สอบถาม รมว.พาณิชย์ว่าทำไมถึงล่าช้า ได้รับคำตอบว่าขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)
“เราอยู่ไม่ได้แล้ว ยังไงก็อยู่ไม่ได้ต้นทุนการผลิตสูงอยู่แล้ว อย่างน้อยขอให้ได้ราคา 8000 บาทต่อตัน ก็สามารถอยู่ได้ เราเป็นรากหญ้าที่สร้างรายได้ให้ประเทศนับแสนล้าน แต่ทุกวันนี้นายกรัฐมนตรีไม่ลงมาดูเลยไม่เคยลงมาดูแลเกษตรกร ขอพูดตรงๆ เพราะว่าเป็นความเดือดร้อนปากท้องของพี่น้องเกษตรกร อะไรจะเกิดขึ้นผมไม่รู้ ถ้ายังเป็นแบบนี้” ปราโมทย์ กล่าว.-516.-สำนักข่าวไทย