กรุงเทพฯ 10 เม.ย. – “พิชัย” รองนายกฯ เชื่อการชะลอมาตรการภาษีต่างตอบโต้ของสหรัฐ เป็นการเปิดทางให้แต่ละประเทศเจรจาปรับดุลการค้ากับสหรัฐ เตรียมเชิญผู้ประกอบการร่วมหารือกับ 3 กระทรวงหลัก กำหนดความชัดเจนเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร อยากให้เข้าใจว่า การนำเข้าสินค้าเกษตรชนิดใดเพิ่ม จะกำหนดอัตราเฉพาะส่วนที่ในประเทศขาด หรือนำเข้ามาเพื่อแปรรูป โดยจะพิจารณารอบคอบ เพื่อลดผลกระทบ คาดเศรษฐกิจโตลดลงทั้งโลก ขึ้นอยู่กับใครปรับตัวได้ดี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจามาตรการภาษีต่างตอบโต้ของสหรัฐอเมริกากล่าวถึงการที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาตินำมวลชนมาชุมนุมหน้ากระทรวงการคลัง เพื่อคัดค้านการนำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะพิจารณาการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อย่างรอบคอบ เฉพาะในส่วนที่ประเทศผลิตได้ไม่เพียงพอ หรือนำเข้าเพิ่มเพื่อแปรรูปสำหรับส่งออกซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา และสร้างรายได้ เข้าประเทศไปพร้อมกัน
สำหรับข้อกังวลด้านสุขภาพจากสารเร่งเนื้อแดง นายพิชัย ระบุว่า จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณาอีกครั้ง แต่ประเทศต่างๆ มีมุมมองเกี่ยวกับการใช้สารเร่งเนื้อแดงต่างกัน นักวิชาการใหญ่ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาต่อสุขภาพ โดยเน้นย้ำการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน พร้อมกำหนดให้ติดฉลากแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกบริโภคอย่างมีข้อมูล
ส่วนกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเลื่อนการใช้มาตรการภาษีต่างตอบโต้ไปอีก 90 วัน นายพิชัย ชี้แจงว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยประเมินไว้ล่วงหน้าแล้วว่า อาจเกิดขึ้น เนื่องจากการใช้มาตรการขึ้นภาษีดังกล่าวของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงผู้บริโภคในสหรัฐฯ เอง ทั้งนี้ ไทยจะใช้ช่วงเวลาที่ได้เพิ่มนี้ เร่งเจรจาในรูปแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ เพื่อพิจารณาว่ามีสินค้ารายการใดที่สามารถนำเข้า–ส่งออกระหว่างกันได้เพิ่มเติม รวมทั้งการพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวดขึ้นเนื่องจากสินค้าส่งออกบางรายการเป็นสินค้าที่มีแหล่งผลิตหลักในต่างประเทศและผ่านเข้ามาในประเทศไทยช่วงสั้นๆ เป้าหมายสำคัญคือ การเจรจาปรับดุลการค้าเพื่อให้เกิด “Win-Win Solutions” โดยจะทำควบคู่กับการหารือในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อร่วมประเมินภาพรวมดุลการค้าในภูมิภาค
นายพิชัย ยังเปิดเผยว่า ขั้นตอนต่อไปของการเจรจาไทย–สหรัฐฯ จะเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดรายการสินค้านำเข้า–ส่งออกให้ชัดเจนก่อนเข้าสู่กระบวนการเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR)
พร้อมระบุว่า การเจรจาครั้งนี้จะไม่ใช่การตกลงครั้งเดียวจบ แต่เป็นกระบวนการที่ต้องหารือหลายรอบ เพื่อให้ระดับบริหารสูงสุดของทั้งสองฝ่ายพิจารณาอีกครั้ง
นายพิชัย ยอมรับว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบจากบริบทการค้าโลก เช่นเดียวกับทุกประเทศ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลของแต่ละประเทศว่า จะสามารถปรับตัวได้ดีเพียงใดเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว ขณะนี้กำลังเตรียมแผนรองรับผลกระทบต่อภาคการเกษตรและการจ้างงานอย่างรอบคอบเนื่องจากไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและเป็นผู้นำด้านการส่งออก มาตรการภาษีทรัมป์จะกระทบกับการผลิตภาคเกษตรและการจ้างงานอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังความเป็นไปได้สูงที่จะปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะ แม้ที่ผ่านมาจะพยายามรักษาวินัยการคลังอย่างเต็มที่เพื่อให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ของ GDP แต่หากจำเป็นต้องปรับเพดาน จะต้องมั่นใจว่า จะนำหนี้ที่ก่อเพิ่มมาใช้ประโยชน์สูงสุดในการแก้วิกฤตนี้ ส่วน “เงินหมื่น” เฟสต่อไป จะยังคงแจกตามกำหนดเดิมหรือไม่ นายพิชัย บอกว่า คำถามนี้เอาไว้ก่อน. -512-สำนักข่าวไทย