กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. – “อมตะ” เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งอนาคต ขานรับการย้ายฐานการผลิตจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งจีนและญี่ปุ่น หวังใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญ คาดปีหน้าสงครามการค้ายังมีต่อไทยได้ประโยชน์จากกระแส “China Plus One”
นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจลงทุนในนิคมฯ อมตะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่น ซึ่งต่างมองว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่มีความสำคัญระดับภูมิภาค ซึ่งเห็นได้จากไตรมาส 3/67 มียอดโอนที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มียอดรอการรับรู้รายได้จากการโอน (Backlog) อยู่ที่ 16,939 ล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะสามารถทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 50% และอีก 50% ในปี 2568
สำหรับทิศทางในปี 2568 ของอมตะ ยังมองว่ากระแส “China Plus One” จะยังดำเนินต่อไป ซึ่งเป็นกระแสที่เด่นชัดมาตั้งแต่ช่วงหลังความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ทำให้การย้ายฐานการผลิตนอกประเทศจีนไปมาสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอมตะจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก
ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมของอมตะอยู่ใน จ.ชลบุรี และระยอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่วนนิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ได้แก่ การลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ 1.นิคมฯอมตะซิตี้ เบียนหัว 2.นิคมฯอมตะซิตี้ ลองถั่น 3.นิคมฯอมตะซิตี้ ฮาลอง และ 4.นิคมฯ กว่างจิ (Joint Venture) คิดเป็นมูลค่าลงทุนทั้งสิ้นกว่า 860 ล้านเหรียญสหรัฐ บนพื้นที่ดินที่ได้รับใบอนุญาต 3,000 เฮกตาร์ (18,750 ไร่) และการลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาเตย แขวงหลวงน้ำทา และนิคมอุตสาหกรรมอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาหม้อ แขวงอุดมไซ
ทั้งนี้ นิคมฯ ทุกแห่งได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการจากทั่วโลก ในขณะที่จุดเด่นของทำเลที่ตั้ง อมตะได้รับความสนใจจากธุรกิจหลายภาคส่วนที่ต้องการย้ายฐานการผลิต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยี หรืออิเล็กทรอนิกส์ โดยอมตะได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกพื้นที่พัฒนา เป็นมากกว่าแค่สถานที่ประกอบธุรกิจ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การจัดหาแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปจนถึงการผสมผสานสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอุตสาหกรรมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ผู้เช่าและนักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อมตะยังให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบผ่านโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม. -511- สำนักข่าวไทย