กรุงเทพฯ 21 พ.ย. – สมาคมการค้าผู้ขายส่งยาสูบ และ สมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบไทย จี้รัฐทบทวนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบและหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ วอนอย่าซ้ำเติมอุตสาหกรรมยาสูบไทย หลังบุหรี่เถื่อน-บุหรี่ไฟฟ้าทะลัก พบยอดขายพุ่งกว่า 20,000 ล้านบาท
นายธานินทร์ หิรัญโชติ นายกสมาคมการค้าผู้ขายส่งยาสูบ กล่าวว่า สมาคมการค้าผู้ขายส่งยาสูบ และ สมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบไทย มีความเห็นร่วมกันว่า ขอให้รัฐทบทวนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ และหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมยาสูบไทย ดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 การปรับภาษีสรรพสามิตยาสูบ การปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีบุหรี่ตั้งแต่ปี 2560 นั้น มุ่งเน้นการควบคุมจัดการและตอบโจทย์ใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การดูแลเกษตรกร 2.รายได้ของรัฐบาล 3.สุขภาพของประชาชน และ 4.การปราบปรามและควบคุมบุหรี่ผิดกฎหมาย แต่จากผลที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน พบว่าส่วนแบ่งตลาดและปริมาณจำหน่ายบุหรี่ไทยลดลงต่อเนื่อง เกิดผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมยาสูบไทยหลายภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่ยึดอาชีพในการเพาะปลูกใบยาสูบมาอย่างยาวนานได้รับความเดือดร้อนด้านรายได้ที่ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต ในส่วนผู้ค้าส่งยาสูบและร้านเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศพบว่ามีรายได้ลดลงเท่าตัวและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากราคาบุหรี่ถูกกฎหมายที่ปรับสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับมีอัตราการโตขึ้นของบุหรี่ผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อรายได้ในการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐ และการควบคุมจำนวนผู้สูบบุหรี่เองก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายก็เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าการสูบบุหรี่ถูกกฎหมายที่มีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการผลิต
ประการที่ 2 การกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หากร่างกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่วางจำหน่ายในประเทศไม่สามารถใส่สารปรุงรสต่างๆ ได้ ตามวัตถุประสงค์ในการลดจำนวนผู้บริโภคยาสูบลง แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ ผู้บริโภคเพียงแค่เลิกการซื้อบุหรี่รสชาติจืดที่ไม่ใส่สารปรุงแต่ง ซึ่งเป็นบุหรี่ถูกกฎหมายที่เสียภาษีให้แก่รัฐเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนไปเลือกซื้อบุหรี่ผิดกฎหมายที่ไม่ถูกควบคุมโดยกฎหมายใด ๆ และสามารถปรุงแต่งรสชาติต่าง ๆ ได้แทน ดังนั้น การออกร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวจะไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ในทางปฏิบัติ และกลับส่งเสริมการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น
“บุหรี่ผิดกฎหมายและบุหรี่ไฟฟ้ามีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายไปถึงในกลุ่มเด็ก แต่ภาครัฐก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ 2 สมาคมจึงมีความเห็นร่วมกันว่าทางภาครัฐควรพิจารณาคงอัตราภาษีเดิมไว้ก่อน ซึ่งราคาปัจจุบันบุหรี่ขายอยู่ที่ 72 บาท หากปรับขึ้นภาษีราคาบุหรี่ถูกกฏหมายจะสูงขึ้นเป็น 80-90 บาท/ซอง และควรแก้ไขปัญหาบุหรี่เถื่อน-บุหนี่ไฟฟ้าให้ได้ก่อนพิจารณาขึ้นภาษี เพื่อลดภาวะการเสียเปรียบทั้งการแข่งขันตลาด การควบคุมบุหรี่ผิดกฎหมายอันมีผลต่ออนาคตของยาสูบไทยและการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ” นายธานินทร์ กล่าว.-517-สำนักข่าวไทย