กรุงเทพฯ 6 มิ.ย. – ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ SBNEXT และติดตามคำชี้แจงของบริษัท สั่ง SABUY แจงเหตุหนี้ทะลุสินทรัพย์-ขาดทุน, เสียอำนาจคุม SBNEXT
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งให้ บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 1/67เนื่องจากผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่อง โดย SABUY ขาดทุน 1,961 ลบ. มีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน และขาดทุนสะสม 3,084 ลบ. และมีข้อสังเกตกรณีมีข้อบ่งชี้ว่ากลุ่ม SABUY สูญเสียอำนาจควบคุมใน บมจ. สบาย คอนเน็กซ์ เทค (SBNEXT) ทั้งนี้ SABUY ได้ตั้งด้อยค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น รวมทั้งเงินให้กู้ยืมแก่ SBNEXT ทั้งจำนวนรวม 1,464 ลบ. อีกทั้งบริษัทมีผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุนใน บจก. ดับเบิ้ลเซเว่น (DOU7) 996 ลบ.
นอกจากนี้ให้ SBNEXT ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 1/67 ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงิน เนื่องจากมีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญของการดำเนินงานต่อเนื่อง โดย SBNEXT ขาดทุนสุทธิ 93 ลบ. มีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน และมีขาดทุนสะสม บริษัทผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ยืมทำให้สถาบันการเงินและผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกชำระคืนทันที รวมทั้งมีข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มบริษัทอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก SABUY ผู้ถือหุ้นใหญ่ 24.92% สินทรัพย์ที่ไม่มีภาระผูกพันมีจำกัดซึ่งอาจมีผลต่อการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ทั้ง 2 บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของ ตลท.ภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2567 สำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2567 โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ SBNEXT และติดตามคำชี้แจงของบริษัท ประเด็นที่ขอให้บริษัทชี้แจง : การแก้ปัญหาสภาพคล่อง แนวทางการจัดหาแหล่งเงินเพื่อชำระหนี้และใช้ในการดำเนินงาน ,รายละเอียดการกู้ยืมเงินและการนำสินทรัพย์ของบริษัทไปค้ำประกันให้กลุ่ม SABUY (ตาม note 8) การลงทุนในหุ้น SABUY และการปฏิบัติตามเกณฑ์การทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน ,นโยบายการพิจารณาลงทุนและวัตถุประสงค์การลงทุนในตราสารทุน การบริหารความเสี่ยงและติดตามผลตอบแทนจากการลงทุนสัดส่วน แหล่งเงินทุน ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบ,นโยบายการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสาเหตุการเพิ่มขึ้นของรายการดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งแนวทางการติดตามหนี้,รายละเอียดของหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากคดีความ โดยมีทุนทรัพย์ฟ้องร้องมากกว่า 5% ของส่วนของผู้ถือหุ้น,ความคืบหน้าของการดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์ดำรงสถานะเรื่องการไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจากบริษัททำธุรกิจเดียวกับบริษัทในกลุ่มของผู้ถือหุ้นใหญ่ ตามข่าวของบริษัทเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566. -511-สำนักข่าวไทย