กรุงเทพฯ 20 พ.ค. – IRPC เชื่อมั่นผลประกอบการปีนี้เป็นบวกแม้ราคาน้ำมันผันผวน วางเป้ากลยุทธ์สร้างความเข้มแข็งธุรกิจหลัก (Core uplift) สร้าง EBITDA ราว 5 พันล้านบาทต่อปี เสริมแกร่ง มั่นใจนโยบายอีวีของรัฐทำให้เกิดการใช้ปิโตรเคมีในประเทศพุ่ง
นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการปีนี้เชื่อว่าจะกลับมาเป็นบวก มีปัจจัยจากทิศทางธุรกิจปิโตรเคมีโลกที่ฟื้นตัว แม้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวน ซึ่งล่าสุดกรณีนายอิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกก็เป็นแรงหนุนที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย รวมทั้งคาดว่ามีผลต่อราคาน้ำมัน ในขณะเดียวกันจากความหวังที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐที่ดี ปัญหาขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ก็มีผลต่อราคาน้ำมัน
“จากที่โครงการยูโร 5 แล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2566 ทำให้จำหน่ายในประเทศได้เพิ่มขึ้น โดยปรับสูตรจำหน่ายอ้างอิงน้ำมันกำมะถันต่ำสิงคโปร์ทำให้มาร์จินปรับเพิ่มขึ้น 2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่เศรษฐกิจจีนกระเตื้องความต้องการเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ ABS ซึ่งสเปรดเติบโตขึ้นชัดเจน 2 เท่า มาอยู่ที่ 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน ดังนั้นบริษัทเตรียมกลับมาเดินเครื่องโรงงานผลิต ABS เต็มกำลังการผลิตที่ 1.8 แสนตันต่อปี ตั้งแต่ในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ เทียบกับปลายปี 2566 เดินเพียง 40% เท่านั้น” นายกฤษณ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 คาดว่าจะสู้ไตรมาส 1/2567 ไม่ได้ เพราะคาดว่าค่าการกลั่นจะอ่อนตัวลง แต่เชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป และช่วยให้ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยบวกหลักๆคือค่าการกลั่นที่ดีขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันในข่วงเทศกาล driving season ของสหรัฐฯ รวมทั้งสเปรด ABS ที่ดีขึ้นอย่างมาก และคาดว่าปี 2568 จะเป็นปีที่ดีขึ้นอีก จากหลายโครงการ Specialty products แล้วเสร็จตามแผนงาน ในขณะที่จากการส่งเสริมการผลิตค่ายรถยนต์อีวีในประเทศความต้องการพลาสติกประเภทนี้ก็จะเพิ่มขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อไออาร์พีซี
สำหรับ แผนการดำเนินการกลยุทธ์ 5 ปี (ปี 2567 – 2571) บริษัทมีกลยุทธ์สร้างความเข้มแข็งธุรกิจหลัก (Core uplift) โดยคาดว่าจะส่งผลให้มีผลต่อ EBITDA ราว 5 พันล้านบาทต่อปี เป็นเม็ดเงินที่เพิ่มจากการคาดการณ์ กำไร EBITDA ราว 1.3 หมื่นล้านบาท/ปี ดังนั้น หากเกิดความผันผวนใดใด กำไร จาก Core uplift ก็จะมาช่วยส่วนนี้ได้ โดยประกอบไปด้วย
1.ธุรกิจปิโตรเลียม บริษัทฯ สามารถผลิตและจำหน่ายน้ำมันสะอาดดีเซลกำมะถันต่ำตามมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปลายปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 93,500 บาร์เรลต่อวัน ตามแผนกลยุทธ์ “Domestic first” ที่มุ่งขยายสัดส่วนการจำหน่ายน้ำมันในประเทศผ่านเครือข่ายคลังน้ำมันทั่วประเทศ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมันในประเทศอีกด้วย สร้าง EBITDA ราว 1-2 พันล้านบาท ต่อปี
ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี บริษัทเพิ่มสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty products) ให้ได้ 38% ภายในปี 2567 และ 50% ในปี 2568 ด้วยกลยุทธ์ “Specialty boost” เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและประสบการณ์อันยาวนาน โดยมีความสำเร็จในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ อาทิ ธุรกิจท่อและโครงสร้างพื้นฐาน : เม็ดพลาสติก POLIMAXX HDPE 100 RC ใช้ในการผลิตท่อทนต่อแรงดันและรับแรงกระแทกสูง ตามมาตรฐาน EN1555-2021 อายุใช้งานยาวนานถึง 50 ปี ปัจจุบันบริษัท ส่งออกเม็ดพลาสติก POLIMAXX PE100 RC ไปยังหลายภูมิภาค เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาและอินเดีย เป็นต้น คาดสร้าง EBITDA ราว 800-1,500 ล้านบาทต่อปี การจัดการ ทรัพย์สินที่มี เช่น ที่ดิน ท่าเรือ ธุรกิจคลังคาดจะสร้าง EBITDA ราว 100-200 ล้านบาท/ปี ในขณะเดียวกันยังเดินหน้า SOS โปรแกรมอีกหลายโครงการคาดสร้าง EBITDA ราว 1,500-1,800 ล้านบาท/ปี
สำหรับ Specialty products ที่ทยอยเปิดดำเนินการ อื่นๆ ได้แก่ธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสุขอนามัย: เม็ดพลาสติก POLIMAXX PP Spunbond และ PP Meltblown (พีพี สปันปอนด์ และ พีพี เมลต์โบลน) สำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสุขอนามัย เช่น หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ ชุด PPE ผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงแผ่นกรองต่าง ๆ ที่มีความปลอดภัยสูงเพราะไม่มีสารทาเลต (Phthalate free) รวมทั้งธุรกิจยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์: Acetylene Black (ACB) (อะเซทิลีนแบล็ก) ด้วยคุณสมบัติการนำไฟฟ้า ลดไฟฟ้าสถิตย์ ช่วยในการถ่ายเทประจุความร้อน ดูดซึมความชื้นต่ำ มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น งานแบตเตอรีในรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เป็นต้น
นอกจากนี้ในด้านธุรกิจสีและสารเคลือบ ธุรกิจสีและสารเคลือบ บริษัทฯ ร่วมกับบริษัท เบเยอร์ จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบมาตรฐานโลกเป็นครั้งแรกของประเทศ ด้วยส่วนผสม Polytetrafluoroethylene (PTFE) ที่มีคุณสมบัติพิเศษมีความทนทานต่อสภาพอากาศ ที่รุนแรง ช่วยยืดอายุการใช้งานโครงสร้างเหล็กถึงสามเท่า สำหรับใช้เคลือบโครงสร้างเหล็กในโรงกลั่นน้ำมัน โรงงาน ปิโตรเคมีสนามบิน ท่าเรือและสะพาน เป็นต้น
สำหรับความก้าวหน้าในกลยุทธ์การลงทุนแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ (Step up & Beyond) บริษัทได้ลงทุนในบริษัท วิสอัพ จำกัด (VISUP) ซึ่งเป็น Incubator / Accelerator ผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ในสัดส่วน 22% โดยมีความสนใจในเทคโนโลยีกลุ่ม Digital Temperature Indicator (DTI) ที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนา รวมถึงต่อยอดกับ หมึกนำไฟฟ้า (Conductive ink) ของบริษัท โดยประยุกต์ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ สามารถติดตามสินค้า ตรวจสอบสภาพสินค้า และให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค
“บริษัทมุ่งมั่นดำเนินนโยบายธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ลดต้นทุนการผลิต ต้นทุนพลังงานจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ บริษัท พร้อมลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2603” นายกฤษณ์ กล่าว. -511-สำนักข่าวไทย