กรุงเทพฯ 31 มี.ค. – กรณีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองขัดข้อง วันนี้กรมการขนส่งทางรางลงพื้นที่กำชับเอกชนผู้สัมปทาน เร่งดำเนินการแก้ไข สั่งเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบซ่อมบำรุง และหาแนวทางป้องกันเหตุเกิดซ้ำ
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทาง ลงพื้นที่ติดตามวิเคราะห์หาสาเหตุและการแก้ไขปัญหาการเดินรถ หลังเหตุแผ่นเหล็ก พร้อมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้า ร่วงลงสู่พื้นด้านล่าง ส่งผลให้รางนำไฟฟ้า ของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดร่วงด้านในค้างอยู่ด้านบนทางเดินยกระดับ หรือ walkway ระหว่างสถานีกลันตัน ถึงสถานีศรีอุดม เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา โดยบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า ได้ปรับการบริการเดินรถไฟฟ้าแบบไม่เต็มรูปแบบ
-สถานีลาดพร้าว-สถานีหัวหมาก เดินรถปกติ มีความถี่ในการเดินรถ 10 นาที/ขบวน และช่วงเวลาเร่งด่วน 5 นาที/ขบวน
-สถานีศรีเอี่ยม-สถานีสำโรง เดินรถปกติ ความถี่ในการเดินรถ 10 นาที/ขบวน
-ส่วนช่วงสถานีหัวหมาก-สถานีศรีเอี่ยม ความถี่ในการเดินรถ 25 นาที/ขบวน
โดยผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีศรีเอี่ยมและสถานีหัวหมาก ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางช่วงสถานีหัวหมากถึงสถานีศรีเอี่ยม ต้องรอขบวนรถนานกว่าปกติ
ทั้งนี้ ผู้โดยสารกรุณาเผื่อเวลาในการเดินทาง โดยผู้โดยสารสามารถติดตามเวลาขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน THE SKYTRAINS และหากมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเส้นทางการให้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง จะแจ้งให้ทราบต่อไป พร้อมทั้งปรับลดค่าโดยสารร้อยละ 20 จนกว่าจะเดินรถได้ตามปกติ
อธิบดีกรมราง บอกด้วยว่า จากการลงพื้นที่พบว่าน็อตที่ยึดแผ่นบริเวณรอยต่อรองรับการขยายตัวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของคานทางวิ่ง หลุดและขาดออกจากตำแหน่งที่ติดตั้ง ระหว่างสถานีสวนหลวงกับสถานีศรีอุดมฝั่งทิศทางมุ่งหน้าปลายทางสถานีสำโรง ส่งผลให้แผ่นเหล็กดังกล่าวหล่นลงมาที่พื้นด้านล่างจำนวน 1 ชิ้น
ดังนั้น กรมการขนส่งทางรางได้เน้นย้ำให้ EBM ตรวจสอบสภาพการขันรอบของน็อตที่ยึดแผ่นเหล็ก หรือบริเวณ expansion joint ของคานทางวิ่งทั้งหมด พร้อมทั้งพิจารณาเปลี่ยนน็อต บริเวณดังกล่าวทั้งหมดตลอดเส้นทาง และพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าให้มีความมั่นคงแข็งแรงและอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน พร้อมทั้งดำเนินการเคลื่อนย้ายรถไฟฟ้าที่ยังคงติดค้างระหว่างสถานีบนเส้นทาง และติดตั้งรางนำไฟฟ้าให้กลับมาอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน และเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบบริเวณ expansion joint เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า.-สำนักข่าวไทย