กรุงเทพฯ 20 มี.ค.-Virtual bank ธนาคารไร้สาขา กลุ่มพันธมิตร ไทย-ต่างชาติ ร่วมขอไลเซนส์ คาดส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (20 มี.ค.67 ) เป็นวันแรก ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครขอใบอนุญาต หรือขอไลเซนส์ ในการจัดตั้ง Virtual bank ธนาคารไร้สาขา เปิด 6 เดือนเต็ม ตั้งแต่ 20 มี.ค. ถึง 19 ก.ย.67 สำหรับผู้ให้บริการจะต้องเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย ภายใต้ทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 5,000 ล้านบาท และสามารถให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลโดยไม่มีสาขา
โดยกลุ่มธุรกิจที่คาดการณ์ยื่นไลเซนส์ Virtual Bank คาดมี 5 กลุ่ม มีการร่วมทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ 1.กลุ่มร่วมทุน KTB,AIS , GULF, OR 2 กลุ่มร่วมทุน SCBX , KakaoBank (DIGITAL BANK- Virtual Bank เกาหลีใต้) 3เครือซีพี โดย แอสเซนด์ มันนี่ ผู้ให้บริการแอปฯ “ทรูมันนี่” จับมือ Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba ของจีน 4กลุ่ม JMART ร่วมกับ KB Financial Group เกาหลีใต้ และ 5.- บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า การเปิดให้มีการยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank ถือเป็นปัจจัยบวกในระยะกลาง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการจัดตั้งต้องใช้ระยะเวลา คาดว่าน่าจะเห็น Virtual Bank ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือในปี 2569
นายพรชัย ฐีรเวช โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการเปิดให้ยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการส่งเสริม Digital Economy และพัฒนา Infrastructure ในระบบการเงินเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Financial Center ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้ขออนุญาตต้องนำเสนอคุณสมบัติแนวทางที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินให้กับลูกค้า ส่วนประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น
สำหรับประโยชน์ต่อผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารไร้สาขาในอนาคต จะช่วยลดต้นทุนด้านอาคารสถานที่ในการดำเนินธุรกิจ แต่จะมีต้นทุนในด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ต่างๆเข้ามาแทน ซึ่งเมื่อต้นทุนที่ลดลงก็จะทำให้ดอกเบี้ยในการปล่อยสินเชื่อกับลูกค้าต่ำลงตามไปด้วย นอกจากนี้เมื่อมีผู้ประกอบการมากขึ้นก็จะทำให้เกิดการแข่งขันทั้งในเรื่องราคา ด้านบริการ ซึ่งประชาชนก็จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ธปท.ให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยด้านข้อมูล ส่วนบุคคลของลูกค้าผู้ใช้บริการ ซึ่งหากผู้ยื่นขอเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจก็จะสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ
สำหรับทิศทางดอกเบี้ยภายในประเทศ มองว่าน่าจะอยู่ในช่วงขาลง แต่จะลงเร็ว ลงช้าแค่ไหน คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายที่จะต้องพิจารณาผลดี ผลเสียของอัตราดอกเบี้ยที่สูง โดยต้องดูจากข้อมูลต่างๆว่าเมื่อไรจึงควรที่จะลดดอกเบี้ยในปี 2567 นี้
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ย้ำความพร้อมร่วมกับพันธมิตร ทั้งADVANC ,KTB) ยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank พร้อมทั้งอยู่ระหว่างเจรจากับ คือ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และดูความพร้อมของ OR หาก OR มีความพร้อมและตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนด้วย คาดว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะแบ่งเป็น GULF ADVANC และ KTB จะถือหุ้นรายละ 30% ส่วน OR จะถือหุ้นในสัดส่วน 10% โดยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 5 พันล้านบาทแบบชำระเต็ม หากไม่เพียงพอสามารถเพิ่มทุนได้
แผนธุรกิจของ Virtual Bank มีกลยุทธ์หลักในการเข้าถึงฐานลูกค้าของ KTB และ ADVANC ซึ่งทั้ง 2 รายมีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก จะมีแนวทางอย่างไรในการสร้างโอกาสให้ Virtual Bank เข้าถึง นับว่าเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบปัจจุบัน เพราะไม่มีหลักประกัน การพิจารณาการให้สินเชื่อจะนำ Data จากการฝากเงิน ความสามารถในการชำระบิลค่าโทรศัพท์ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ มาพิจารณาเป็หลัก โดยไม่ต้องมีการวางหลักประกัน วงเงินสินเชื่อไม่สูง หรืออยู่ที่ 30,000-50,000 บาท/ราย และ 100,000-200,000 บาท/ราย เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงเงินทุนในระบบของคนฐานใหญ่ในประเทศไทย
ส่วนการแข่งขันในธุรกิจ Virtual Bank คงไม่ได้เน้นไปที่ดอกเบี้ย แต่เป็นการแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีที่มีความเสถียร สามารถรองรับการให้บริการ 7 วัน 24 ชั่วโมง.-511-สำนักข่าวไทย