กรุงเทพฯ5ม.ค.-“จุลพันธ์-พีระพันธุ์” แจง งบฯ ลดค่าน้ำมัน-ไฟฟ้า อยู่ในกรอบจัดการได้ ประชาชนได้ประโยชน์ ในขณะที่ฝ่ายค้านหวั่นปัญหาขาดสภาพคล่อง รัฐวิสาหกิจ เช่น กฟผ. กระทบความมั่นคง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการลดค่าครองชีพประชาชน ที่รัฐบาล ดำเนินการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน มีการใช้กลไกของรัฐวิสาหกิจ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บมจ. ปตท. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และภาษีสรรพสามิต เข้ามาดูแล โดยฝ่ายค้าน มอง อาจเกิดปัญหาต่องบประมาณภาครัฐ และปัญหาสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจจะมีผลต่อความมั่นคงด้านพลังงาน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ระบุ การใช้มาตรการภาษีดีเซลสองรอบ ตั้งแต่ 20 กันยายน 66 ถึง 31 ม.ค. 67 รวมกันแล้วรัฐจะสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลรวม 17,700 ล้านบาท ไม่ใช่ 60,000 ล้านบาทแต่อย่างใดตามที่ฝ่ายค้านอภิปรายแต่อย่างใด อยู่ในกรอบการบริหารงบประมาณที่รัฐสามารถจัดการได้ ไม่ได้ทำให้การจัดเก็บรายได้พลาดเป้าแต่อย่างใด โดยประชาชนได้รับประโยชน์จากการลดภา
ส่วนการลดค่าไฟฟ้า งวดสุดท้ายของปี 66ที่ให้ ปตท.ยืดเวลาชำระหนี้ค่าก๊าซฯ ให้ กฟผ. นั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ไม่ได้ กล่าวถึงประเด็นนี้ ระบุเพียงว่า “ข้อมูลจริง” นั้น กฟผ. ชำระหนี้เดิมที่มีกับ ปตท. หมดสิ้นแล้วตั้งแต่มกราคม 66 สำหรับปี 66 ทั้งปีนั้น กฟผ. ไม่ได้ติดหนี้อะไร ปตท. โดยมีการชำระหนี้ให้ ปตท. ตามกำหนดเวลาตลอดมา
ส่วนเรื่องสภาพคล่อง ของ กฟผ.ที่ภาครัฐให้ยืดหนี้ ที่ประชาชนติดค้างภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแก่ กฟผ.โดย ไม่มีการจ่ายหนี้เป็นเวลา 2 งวด หรือ 8 เดือน (ก.ย.66-เม.ย.67 ) รมว.พลังงาน ชี้ แจงว่า ได้ดูฐานะการเงิน กฟผ.สามารถรับภาระได้ และภาครัฐได้บริหารจัดการ ด้วยการปรับโครงสร้าง Pool Gas และให้ กกพ. เรียกเก็บค่า Shortfall มาลดภาระ
ในขณะที่ กฟผ. มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์เดิม อีกประมาณเกือบ 15,000 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นปี 66 มีเงินสดคงเหลือจริงประมาณ 91,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 63,623 ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ เดือนมกราคม 67 กระแสเงินสดของ กฟผ.จะเหลือไม่ถึง4 หมื่นล้านตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่ คาดไปถึงปีนี้ สภาพคล่อง กฟผ. จะลดลงเรื่อยๆจนถึงขั้นติดลบในเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคม โดยมาตรฐานทางการเงินของ กฟผ. จะต้องคงสถานะเงินสดไม่ให้ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หากเมื่อใดมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่ามาตรฐานนี้ กฟผ. จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ทันที
“อัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บจากประชาชนตามการคาดการณ์ในตารางจะอยู่ที่ 3.99 บาท / หน่วย ตลอดปี 2567 และคาดการณ์ว่าเป็นภาระของ กฟผ. เองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ “ข้อมูลจริง” ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่าง 4.15 ถึง 4.20 บาท / หน่วย ตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน 2567 ส่วนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ที่รัฐบาลคงไว้ที่ 3.99 บาท / หน่วย นั้น รัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระจากเงินงบกลางเป็นเงินประมาณ 1,995 ล้านบาท จึงไม่เป็นภาระของ กฟผ. ฝ่ายเดียว ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาแสดง”นายพีระพันธุ์ กล่าว.-511- สำนักข่าวไทย