กรุงเทพฯ 18 ธ.ค. – นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย หวั่นเพิ่มเพดานเงินสมทบกองทุนฯ หลังเกิดกรณี บมจ.สินมั่นคงประกันภัย คาดธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 66 เติบโต 4-5% พร้อมขานรับนโยบายรัฐเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เตรียมเสนอร่างกรมธรรม์ประกันนักท่องเที่ยว
นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึงกรณี บมจ.สินมั่นคงประกันภัยว่า ขณะนี้ได้มีการหยุดการรับประกันทุกชนิด ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พร้อมให้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการหรือเพิ่มทุนให้เพียงพอต่อความเสี่ยงที่มีอยู่ เชื่อว่าผู้บริหารบริษัท จะพยายามหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลา 60 วัน ในการทำแผนฯ และยื่นต่อ คปภ. ซึ่งขณะนี้มีบริษัทประกันภัยรายใหญ่ของไทย เข้ารับพนักงานของสินมั่นคง แสดงว่าเริ่มมีการบริหารจัดการความเสี่ยงแล้ว เชื่อว่าจะรวมไปถึงเริ่มมีการบริหารจัดการกรมธรรม์ด้วย
อย่างไรก็ตาม หาก คปภ. จำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการเหมือนกับ 4 บริษัทที่ผ่านมาในอดีต หนี้ของสินมั่นคงไม่ว่าจะเป็นสินไหมทดแทนและหนี้อื่นๆ ทั้งหลาย ก็จะต้องถูกย้ายไปที่กองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งขณะนี้มีการคาดการณ์ว่ามีหนี้ 30,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะกลายเป็นหน้าที่ของกองทุนฯ ที่จะต้องไปบริหารจัดการ ผนวกกับหนี้เดิมของกองทุนฯ ที่มีอยู่ราว 50,000 ล้านบาท รวมเป็น 80,000ล้านบาท ขณะที่กองทุนฯ มีเงินอยู่ประมาณ 1,000 ล้านบาท เบื้องต้นกองทุนฯ ได้มีการเรียกเก็บเงินสมทบจากสมาชิกสมาคมประกันวินาศภัยไทยแล้ว จากเดิมที่เก็บ 0.25% หรือ ราว 700 ล้านบาท ขยับเพิ่มสูงสุดเป็น 0.5% เต็มเพดาน ทราบว่ามีแนวคิดจะเพิ่มเพดานการเรียกเก็บเงินสมทบ ยอมรับว่าหากเป็นจริงจะส่งผลกระทบอย่างมากกับสมาชิกสมาคมฯ เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าเบี้ยประกันอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท มีสัดส่วนกำไรประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือกำไรไม่ถึง 5% เชื่อว่าภาครัฐตระหนักในเรื่องนี้และคงไม่ไปถึงขั้นนั้น ต้องรอดูว่าจะมีวิธีการบริหารจัดการหนี้และสื่อสารให้ภาคประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงอย่างไร
นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ยังเปิดเผยถึงภาพรวมผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 รวม 3 ไตรมาส (ม.ค.- ก.ย.) มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 210,141 ล้านบาท เติบโตรวม 5.2% โดยประมาณการทั้งปี 2566 คาดว่าจะเติบโต 4.0%-5.0% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 285,080-287,800 ล้านบาท โดยการประกันภัยแทบทุกประเภทมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่กลับมาคึกคัก ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีต่อการประกันภัย ขณะที่คาดการณ์แนวโน้มปี 2567 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 301,050-303,900 ล้านบาท เติบโต 5.0%-6.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการประกันภัยรถไฟฟ้า (EV) การประกันภัยสุขภาพ และการประกันภัยการเดินทางที่มีผลมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ สมาคมฯ ขานรับนโยบายภาครัฐจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ Thailand Traveller Fee (TTF) หรือ ค่าเหยียบแผ่นดิน ซึ่งกำหนดให้ผู้เดินทางผ่านช่องทางอากาศ ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตรา 300 บาท/คน/ครั้ง และผู้ที่เดินทางผ่านช่องทางบกและช่องทางน้ำ ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตรา 150 บาท/คน/ครั้ง โดยนำระบบประกันภัยมาใช้บริหารความเสี่ยง เตรียมเสนอร่างเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อดูแลและสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยให้ความคุ้มครองสูงสุด 1,000,000 บาทต่อคน
“ขณะนี้สมาคมฯ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการรับประกันภัย รวมทั้งจัดทำร่างกรมธรรม์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย การจัดเตรียมระบบเรียกร้องและการตรวจสอบค่าสินไหมทดแทน การจัดหาบริษัทผู้ให้บริการสนับสนุนการดำเนินการด้านการพิจารณาและชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับธุรกิจประกันภัย (Third Party Administration: TPA) เพื่อจัดหาผู้ให้บริการที่เหมาะสมต่อไป” นายสมพร กล่าว.- 516 -สำนักข่าวไทย