กรุงเทพ 27 พ.ย. – การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดงาน “51 ปี ก้าวย่างอย่างมั่นใจ นำเส้นทางใหม่สู่ภูมิภาค”
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย “51 ปี ก้าวย่างอย่างมั่นใจ นำเส้นทางใหม่สู่ภูมิภาค” โดยกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนน ทางพิเศษ ให้มีโครงข่ายครอบคลุมปริมาณความต้องการเดินทางของประชาชน ช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่ง และมีโครงข่ายที่ส่งเสริมต่อระบบเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว การค้า การลงทุน แหล่งอุตสาหกรรม และสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ในทุกมิติ ลดระยะเวลาจากต้นทางไปยังปลายทาง ส่งเสริมต่อการเพิ่มขีดความสามารถสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งในทุกมิติให้ครอบคลุมทั่วถึงทั่วประเทศ และเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดผลักดันการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อความอุดมสุขของพี่น้องประชาชน ซึ่งในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ดำเนินงานสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และประเทศชาติครบ 51 ปี ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานอันดับต้น ๆ ที่มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน และช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวมของกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย การเติบโตอย่างเข้มแข็งมาจนครบ 51 ปี เต็มในวันนี้ เกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของ กทพ. ทุกคน
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวชื่นชมผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างของ กทพ. ทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ และขอเป็นกำลังใจให้สามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามแผนงานที่กำหนดไว้ได้ลุล่วงและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ตั้งใจปฏิบัติงานเพื่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนดังเช่นที่ทำมาตลอด 51 ปี และก้าวย่างสู่ปีที่ 52 อย่างมั่นใจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญ มั่นคง และสร้างความสุขให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กทพ. มีผลงานการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass การพัฒนาศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS Center) การพัฒนาระบบ e-Service การจัดตั้งศูนย์บริหารการจราจรทางพิเศษ (Expressway Traffic Management Center) และปัจจุบันได้เพิ่มทางเลือกใหม่ด้วยการติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยร่วมกับกรมทางหลวงในการบูรณาการให้เป็นไปในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการผ่านทางพิเศษให้กับประชาชน นอกจากนี้ ได้ขยายโครงข่ายทางพิเศษสายใหม่ ๆ ทั้งทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา) รวมถึงโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี ระยะที่ 1 โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง และโครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ จังหวัดภูเก็ต โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโครงการทางพิเศษเกาะแก้ว จังหวัดตราด นับเป็นการเปิดมิติใหม่ในการแก้ไขปัญหาจราจรที่ไม่จำกัดอยู่แค่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เท่านั้น นอกจากนี้ กทพ. ได้ดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานของรัฐจะต้องคำนึงถึง อาทิ การมอบพื้นที่ใต้ทางพิเศษเพื่อสาธารณประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ การมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่อยู่ในชุมชน โรงเรียนรอบเขตทางพิเศษ และผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่ง กทพ. ได้สนับสนุนภารกิจของกระทรวงคมนาคมได้เป็นอย่างดี. -สำนักข่าวไทย