พระนครศรีอยุธยา 21 พ.ย. -“เอ็นอาร์พีที” (NRPT) บริษัทร่วมทุน อินโนบิก-เอ็นอาร์เอฟ ลุยตลาดโภชนาการเพื่อสุขภาพ เปิดโรงงานแพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) ผลิตอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based food) ด้วยเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากประเทศอังกฤษ ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน กำลังผลิตสูงสุด 2.5 หมื่นตัน พร้อมดันไทยเป็นฐานการผลิตอาหารแห่งอนาคตของโลก
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า จากการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รองรับการขยายตัวของตลาดอาหารแห่งอนาคต กลุ่มผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของการพัฒนา โดยโรงงานแพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) จะเป็นฐานการผลิตให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยมาตรฐานฮาลาลและมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสากลจากสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (The British Retail Consortium : BRC) ซึ่งอยู่ระหว่างการรับรอง และโรงงานแห่งนี้ เป็นโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืช 100% แห่งแรกในประเทศไทย และมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 25,000 ตัน โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการในระยะแรกที่กำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี
ทั้งนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) เช่น เนื้อสับ มีทบอล และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เช่น ไส้กรอก นักเก็ต และเกี๊ยวซ่า ซึ่งนอกจากจุดแข็งด้านประสิทธิภาพการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับโลก ให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัส รสชาติ และรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง อร่อย ทานง่ายแล้ว ผลิตภัณฑ์ยังมาจากพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (Non-GMO) และมีโปรตีนสูง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมอาหารให้เหมาะแก่การดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น ขณะเดียวกันโรงงานดังกล่าวใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ในกระบวนการผลิต ลดต้นทุน และลดการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และ NRPT ยังได้มีความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตของไทย ในการพัฒนานวัตกรรมอาหาร
อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการเป็นตัวสร้างความต้องการให้เกิดปริมาณการผลิตจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการดึงเอาวัตถุดิบในประเทศมาต่อยยอดการผลิตในอนาคต เพิ่มศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารอนาคต เพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพของคนไทย และหากดูตลาดกลุ่มรักษาสุขภาพและบริโภคประเภทอาหารที่ผลิตจากพืชทั่วโลกมีมากถึงกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ไทยมีสัดส่วนตีอปีอยู่ที่กว่า 13,000 ล้านบาท และมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก รวมถึงขณะนี้ คนส่วนใหญ่หันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชมากขึ้นทุกปี จึงถือเป็นโอกาสขยายตลาดด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตของโรงงานที่อยุธยานี้ในช่วงแรกจะผลิตสินค้าได้ประมาณ 3,000 ตันต่อไปและด้วยพื้นที่โรงงานถือว่าสามารถรองรับที่จะขยายสายการผลิตเป็น 13,000 ตันต่อไปและจะเพิ่มเต็มพื้นที่การผลิตเป็น 25,000 ตันต่อปีได้ในอนาคต เพราะมั่นใจคนทั่วโลกรวมถึงคนไทยหันมาบริโภคสินค้าประเภทที่ทำมาจากโปรตีนจากพืชทดแทนประเภทเนื้อสัตว์กันมากขึ้น เนื่องจากโปรตีนที่มาจากต้นทุนเนื้อสัตว์นับวันทั่วโลกจะมีอัตราสูงขึ้น ดังนั้น โปรตีนที่ผลิตอาหารจากพืชจะเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ซึ่งในสายการผลิตของโรงงานจะเน้นไปที่ถั่วเหลืองเป็นหลัก และกำลังศึกษาวิเคราะห์พืชประเภทเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่จะนำมาผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปในการป้อนตลาด โดยขณะนี้ ในการช่องทางของผลิตภัณฑ์ยังคงเน้นรับจ้างผลิตเพื่อส่งออกไปในตลาดยุโรปเป็นหลัก และกำลังดูว่าจะนำไปวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าของไทยด้วยเช่นกันด้วยราคาการผลิตสินค้าต่อ 1 กิโลกรัมจะอยู่ที่ประมาณ 100 บาทขึ้นไป. -สำนักข่าวไทย