กรุงเทพฯ 11 ก.ค.- สศก.โชว์ดัชนีรายได้เกษตรกร ครึ่งปีแรก พบว่า มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดพืชผล สร้างรายได้มากสุด
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรโดยวัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรช่วงครึ่งปีแรก 2560 (ม.ค. – มิ.ย.) พบว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 จากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.68 โดยสินค้าสำคัญที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน เงาะ มังคุดและกุ้งขาวแวนนาไม และดัชนีราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.86 จากสินค้าสำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา อ้อยโรงงาน ทุเรียน และมังคุด ประกอบกับภาวะภัยแล้งในปีก่อนได้คลี่คลายและสภาพอากาศในปี 2560 เอื้ออำนวยต่อผลผลิตสำคัญ
หากวิเคราะห์รายหมวดสินค้าสำคัญ พบว่า หมวดพืชผล สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากที่สุด โดยขยายตัวร้อยละ 21.42 รองลงมาคือ หมวดประมง ขยายตัวร้อยละ 17.81 ส่วนหมวดปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ 4.56 ตามลำดับ ส่วนสินค้าสำคัญที่สร้างรายได้แก่เกษตรกร ได้แก่ มังคุด ทุเรียน ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา อ้อยโรงงาน กุ้งขาวแวนนาไม เงาะ และ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเมื่อจำแนกแต่ละสินค้า พบว่า มังคุด รายได้เกษตรกรผู้ปลูกมังคุดช่วงครึ่งปีแรก 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 116.39 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตมังคุดปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.28 เนื่องจากสภาพอากาศมีความเย็นเหมาะสม และดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 84.50 เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง ทุเรียน รายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนช่วงครึ่งปีแรก 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 79.29 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตทุเรียนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.91จากสภาพอากาศปีนี้มีความเย็นเหมาะสม ส่งผลให้ออกดอกได้มากขึ้น ในทางเดียวกันดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.46 เพราะปริมาณผลผลิตทุเรียนกว่า 60% ของทุเรียนทั้งประเทศส่งออกไปยังต่างประเทศทั้งจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเวียดนาม ข้าวเปลือกเจ้า รายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้า ช่วงครึ่งปีแรก 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 71 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตข้าวเปลือกปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 88.81 ซึ่งเป็นข้าวนาปรังที่ปลูกในเขตชลประทานไม่ได้รับผลกระทบจาก ภัยแล้ง ส่วนดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 3.84 ตามกลไกตลาดที่มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
ยางพารา รายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราช่วงครึ่งปีแรก 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.28 เป็นผลมาจากดัชนีราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 55.86 เนื่องจากกลุ่มผู้ส่งออกยาง 3 ประเทศทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ได้กำหนดนโยบายควบคุมปริมาณการส่งออก ส่วนดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.66 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สภาพอากาศทางภาคใต้ของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมีฝนหนักอย่างต่อเนื่องและเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่สำคัญของการปลูกยางอ้อยโรงงาน รายได้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยโรงงานช่วงครึ่งปีแรก 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.31 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตอ้อยโรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.88 จากคุณภาพผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2559/60 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการผลิตน้ำตาลของโรงงานทุกแห่งส่งผลดีต่อผลผลิตน้ำตาลทราย ในทางเดียวกันดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.70 จากราคาน้ำตาลทรายโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำตาล ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายได้ปรับตัวสูง
กุ้งขาวแวนนาไม รายได้เกษตรกรผู้ปลูกกุ้งขาวแวนนาไมช่วงครึ่งปีแรก 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.81 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.16 จากสภาพอากาศปีนี้มีความเหมาะสม และได้แก้ไขปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างฟาร์มโดยมีการจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบในทางเดียวกันดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.93 เนื่องจากผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยเงาะ รายได้เกษตรกรผู้ปลูกเงาะช่วงครึ่งปีแรก 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.71 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตเงาะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 56.07 เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม ส่วนดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 28.42 ตามกลไกตลาดที่มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นปาล์มน้ำมัน รายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันช่วงครึ่งปีแรก 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.04 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปาล์มน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.72 เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม ส่วนดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 6.70 ตามกลไกตลาดที่มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ช่วงต้นปี 2560 กระทบกับผลผลิตยางพาราและกุ้งขาวแวนนาไม แต่ในภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกก็ยังคงขยายตัว ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรไทยในต่างประเทศบางชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา จากจีนที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ และน้ำมันปาล์ม ทั้งจากจีนและอินเดียเพื่อชดเชยสต็อกและบริโภคในประเทศ ตลอดจนความต้องการใช้น้ำตาลเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในเอเชีย-สำนักข่าวไทย