ทำเนียบรัฐบาล 11 ก.ค. – ครม. ไฟเขียวเดินหน้าโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา วงเงิน 179,413 ล้านบาท คาดเปิดให้บริการปี 2564 จะมีผู้ใช้บริการ 5,300 คนต่อวัน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งจะนำไปเสนอ สนช. เพื่อทราบต่อไป
ทั้งนี้ โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ช่วงที่ 2 กรุงเทพฯ – หนองคาย และช่วงที่ 3 แก่งคอย – มาบตาพุด ซึ่งจะพัฒนาเส้นทางรถไฟโดยเกาะเส้นทางเดิมให้มากที่สุด พื้นที่ที่จำเป็นต้องเวรคืนประมาณร้อยละ 10 – 15 หรือคิดเป็น 2,815 ไร่ แบ่งเป็นช่วงบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี 818 ไร่ และช่วงบ้านภาชี-โคราช 1,997 ไร่ รวมเฉพาะงบค่าเวนคืน 212 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจะประกอบด้วย 6 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี ปากช่องและนครราชสีมา
มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย ระยะแรกจะมีทั้งหมด 6 ขบวน วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถบรรจุคนได้ 600 คนต่อขบวน การเดินทางช่วง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ใช้ระยะเวลา 1 ชั่วโมง 17 นาที ซึ่งคาดว่าปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มเปิดให้บริการจะมีผู้ใช้บริการ 5,300 คนต่อวัน ถือเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนผู้โดยสาร กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ในปัจจุบัน คาดว่าภายในปี 2594 จะมีผู้ใช้บริการขั้นต่ำ 26,800 คนต่อวันและมีรถไฟให้บริการจำนวน 26 ขบวน จะวิ่งให้บริการทุก 35 นาที ค่าโดยสารคิดที่อัตรา 80 บาท + 1.8 บาทต่อกิโลเมตร เช่น กรุงเทพฯ – สระบุรี 278 บาท กรุงเทพฯ – ปากช่อง 393 บาท กรุงเทพฯ – นครราชสีมา 535 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าว ถือเป็นการปฏิรูปการรถไฟของประเทศไทย มีความสำคัญในการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางสายไหม ทั้งทางบกและทางทะเลของจีนที่จะเชื่อมโยงยุโรป เอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุนไปยังจังหวัดต่างๆที่รถไฟฟ้าเข้าถึง เช่น สระบุรี อยุธยา ขอนแก่น และระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในอนาคต รวมทั้งเป็นการเชื่อมภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเข้าไว้ด้วยกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคด้วย-สำนักข่าวไทย