กรุงเทพฯ 10 ต.ค. – สนพ. ตามติดราคาน้ำมันจากปัญหาสงครามอิสราเอลกระทบราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มไม่ลดลงจากการลดกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียและรัสเซียจนถึงสิ้นปีนี้ ด้าน กนช. เผยผลสำรวจทัศนคติต่อกองทุนน้ำมันฯเป็นบวก ส่วน กฟผ. ร่วมมือญี่ปุ่น ศึกษาพลังงานใหม่
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก วานนี้ปรับตัวพุ่งสูงกว่า 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงตลาดซื้อขายของเอเชีย โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 4.18 ดอลลาร์ หรือ 4.94% ที่ระดับ 88.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบเวสต์เท็สซัส (WTI) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 4.23 ดอลลาร์ หรือ 5.11% ที่ระดับ 87.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ราคา ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2566) ราคาพลิกฟื้นกลับขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน หลังถูกเทขายมานานหลายสัปดาห์ จากความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบความต้องการทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สนพ. จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อสามารถดำเนินการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานต่อประชาชนในระยะต่อไป
สำหรับสถานการณ์เดือนกันยายน 2566 พบว่า สถานการณ์โลกที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเดือนกันยายน2566 มีราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม จากความกังวลต่ออุปทานตึงตัวหลังซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมที่ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปถึงสิ้นปี 2566 ขณะที่รัสเซียปรับลดการส่งออกลง 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนีเช่นกัน กลุ่ม OPEC ได้เปิดเผยการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกว่า จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2.25 ล้านบาร์เรล ต่อวัน ในปี 2567 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเติบโตขึ้น1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2567 ส่วนสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้คาดการณ์ตลาดน้ำมันดิบจะเข้าสู่ภาวะขาดดุลอย่างมากในไตรมาส 4 ของปี 2566 ที่ประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
“ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลของประเทศไทยและต่างประเทศ ณ วันที่ 25 กันยายน 2566 พบว่า ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ประเทศสิงคโปร์มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 78.82 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 39.95 บาทต่อลิตร ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลนั้น สิงคโปร์ มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 73.02 บาทต่อลิตร ไทยอยู่ในอันดับ 8 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 29.94 บาทต่อลิตร แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง มาตรการด้านภาษี และนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันของประเทศนั้น” ผอ.สนพ. กล่าว
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยผลสำรวจ สำรวจ 528 รายกลุ่มตัวอย่างเพื่อประเมินผลการรับรู้และความเข้าใจต่อการสื่อสารเกี่ยวกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพบว่า ภาพรวมมีทัศนะเชิงบวกต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รับรู้และเข้าใจบทบาทกองทุนฯมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงทำให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด ช่วยเหลือไม่ให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำมัน และรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้รับทุนสนับสนุนโครงการศึกษาและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 3 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) บริษัท ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท มิตซุย โอ.เอส.เค. ไลน์ จำกัด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เพื่อส่งเสริมการนำความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยของญี่ปุ่นไปปรับปรุงและแก้ไขปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ โดยมุ่งศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียครอบคลุมทุกมิติ .-สำนักข่าวไทย