กรุงเทพฯ 6 ต.ค.-ผลสำรวจของ ม.หอการค้าไทย พบประชาชนส่วนใหญ่ 76.4% จะใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท และเชื่อว่าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ขณะเดียวกัน การขยายเวลาปิดสถานบันเทิงในเขตโซนนิ่งจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจมากกว่าปิดตามเวลา
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 1,280 ตัวอย่างทั่วประเทศ ถึงทัศนะต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท พบว่า 76.4% คาดว่าจะใช้เงินดิจิทัล ส่วนผู้ที่มีรายได้เดือนละ 40,001 บาทขึ้นไป จำนวน 15.6% ระบุว่าจะไม่ใช้ โดยในส่วนของผู้ที่จะใช้เงินดิจิทัล อยากใช้ซื้อสินค้าในครัวเรือนมากที่สุด 24.5% รองลงมาคือใช้ซื้ออาหาร 21.0% ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการดิจิทัลหรือไม่ มีผู้ตอบแบบสอบถามว่าไม่แน่ใจมากที่สุด 38.4% เนื่องจากมีความกังวลเรื่องภาษี ยังไม่ทราบหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการที่ชัดเจน และคิดว่าจะได้รับเงินช้ากว่าการขายปกติ และ 33.8% ตอบว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการเพราะจะทำให้มียอดขายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม 48.3% เชื่อว่าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มาก และ 35.6% เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ปานกลาง
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงผลสำรวจของประชาชนถึงความกังวลต่อเหตุยิงกลางศูนย์การค้าด้วยว่า 67.8% มีความกังวลปานกลาง กังวลน้อย 18.9% และกังวลมาก 11.8% นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบว่า การก่อเหตุยิงกลางห้างจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยปานกลาง 45.7% และ 35.1% แสดงความเห็นว่าจะส่งผลกระทบมาก
นอกจากนี้ นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงแนวคิดที่จะมีการขยายเวลาการปิดสถานบันเทิงในเขตโซนนิ่งด้วยว่า จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าการปิดตามเวลา เพราะจะทำให้การท่องเที่ยวคึกคัก เกิดการจ้างงาน ส่วนข้อเสียจะมีเพียงแค่เรื่องของอาชญากรรม แต่เจ้าหน้าที่คงจะป้องกันได้ ซึ่งยุคสมัยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะนำไปสู่การทำลายอย่างสร้างสรรค์มากมาย โดยจะมีการคิดสิ่งใหม่ๆ เข้ามาทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ อันหมายถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน และธุรกิจ พร้อมระบุด้วยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังจะเป็นแนวโน้มสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ ว่า 60.6% จะไม่กินเจ เพราะอาหารเจแพง และ 16.0% ระบุว่า ไม่ตั้งใจกินเจเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วน 39.4% ตอบว่า จะกินเจ เพราะตั้งใจที่จะทำบุญและจะกินเพื่อสุขภาพ สำหรับพฤติกรรมการกินเจในปี 2566 มีถึง 61.4% บอกว่าจะกินเจตลอดเทศกาล ส่วน 38.6% ตอบแบบสอบถามว่าจะกินเพียงบางมื้อเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย