กรุงเทพฯ 8 ส.ค. – ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคอีสานเข้าพบคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเพื่อหารือข้อกฎหมายประเด็นการขยายตัวจุดจำหน่ายปลีกของ 3 บริษัทใหญ่ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ ล่าสุดเจรจากับ “ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต” ซึ่งรับปากจะปรับราคาเนื้อหมูในช็อปให้ใกล้เคียงกับตลาด รอคุยกับ “เฟรชมาร์ท” และ“เบทาโกร” แล้วจะพิจารณาว่า จะร้องเรียนตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าหรือไม่
นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม รองประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและนายอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ เลขาธิการชมรมฯ พร้อมสมาชิกรวม 13 คน เข้าพบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จากการที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระจายตัวและขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ครบวงจรที่นำมาตรการด้านราคาต่ำมาใช้ ทำให้วงจรอาชีพของรายใหญ่ทั้งผู้เลี้ยง ผู้ค้า และโรงเชือดต่างๆ ไม่สามารถแข่งขันได้
นายเดือนเด่นกล่าวว่า ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าว่า ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทำหนังสือถึง 3 บริษัทใหญ่ได้แก่ บริษัท ไทยฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เฟรชมาร์ท และบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการขยายสาขาร้านค้า (ช็อป) ในแต่ละจังหวัดและอำเภอต่อเนื่องเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบทางกลไกการตลาด
ล่าสุดได้เจรจากับผู้บริหารบริษัท ไทยฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) แล้ว โดยได้แจ้งไปว่า การขยายของ “ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต” เป็นไปอย่างเร็ว ปัจจุบันมีทั้งหมด 294 สาขา ขณะที่ตั้งราคาต่ำมากซึ่งไม่ทราบว่า นำสุกรเหล่านี้มาจากไหน โดยราคาที่ตั้งไว้ต่ำกว่าตลาดนั้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต่อคิวเข้าซื้อ ในขณะที่ผู้จำหน่ายเดิมตามตลาดต่างๆ ไม่สามารถแข่งขันได้เลยซึ่งส่งผลกระทบถึงโรงเชือดและผู้เลี้ยงรายย่อยด้วย
ทั้งนี้ผู้บริหารบริษัท ไทยฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) รับปากว่า จะพิจารณาปรับราคาเนื้อสุกรและชิ้นส่วนขึ้นให้ใกล้เคียงกับตลาดในชุมชนให้มากที่สุดเพื่อลดผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขัน
ทางสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้รายละเอียดการดำเนินการร้องเรียนตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 พร้อมระบุว่า หากร้องเรียน แล้วจะไม่สามารถถอนคำร้องได้ กระบวนการสืบค้นหาความจริงจะเริ่มขึ้นเป็นลักษณะเดียวกับกระบวนการทางยุติธรรม พร้อมแนะนำให้เจรจากับบริษัทใหญ่อีก 2 บริษัทด้วย
ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นชอบที่จะขอคุยกับบริษัทเฟรชมาร์ท และบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ก่อน แล้วจึงจะพิจารณาว่า จะร้องเรียนตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่ โดยเป็นไปตามหมวด 3 “การป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม ” มาตรา 50 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาดกระทําการในลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (1) กําหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม (2) กําหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตนต้องจํากัด การบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจําหน่ายสินค้า หรือต้องจํากัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น
นายเดือนเด่นกล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมสุกรไทยที่เผชิญปัญหาหนักในปัจจุบันตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อยู่ในราคาสูงกว่าประเทศในเอเชียและอาเซียนกว่า 30% ในช่วงที่เริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของ ASF ยังพอมีกำไรอยู่บ้าง แต่ผลจากการที่ราคาอยู่เหนือต้นทุนที่สูงอยู่เล็กน้อยก็เกิดกระบวนการนำเข้าหมูอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เกษตรกรทั้งประเทศประสบกับสภาวะขาดทุนตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมาจนปัจจุบันขึ้นเดือนที่ 8 แต่ปรากฏว่า ยังไม่มีมาตรการจากภาครัฐอะไรเลยออกมาเพื่อที่จะช่วยเหลือเกษตรกร
ทั้งนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหา “หมูเถื่อน” ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จากการแถลงข่าวของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เป็นต้นมา ส่วนชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ยื่นต่อ ป.ป.ช. ในช่วงกันยายน 2565 เช่นกัน โดยปัจจุบันคดี “หมูเถื่อน” อยู่ในชั้นการสืบสวนสอบสวนของทีมพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งต้องการให้ตรวจสอบและดำเนินคดีขบวนการค้า “หมูเถื่อน” ให้ได้โดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย