กรุงเทพฯ 2 มิ.ย.-รถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วง ลาดพร้าว-สำโรง พร้อมเปิดทดสอบการเดินรถเสมือนจริง วันพรุ่งนี้ 09.00 น. บริการฟรี 30 วัน ด้านบีทีเอสคาด จะได้รับอนุมัติเก็บค่าโดยสารในเดือนหน้า อัตรา 15 – 45 บาท
บ่ายวันนี้ (2 มิ.ย. ) บริษัทอีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทาน โครงการ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองพาสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมการเปิดทดลองให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ก่อนเปิดทดลองให้บริการเดินรถแก่ประชาชน ในวันพรุ่งนี้ (3 มิ.ย.) เป็นการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) รถเที่ยวแรก หรือรอบปฐมฤกษ์ เวลาประมาณ 9.00 น.โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 66 ช่วงสัปดาห์แรกจะเปิดให้ทดลองก่อน 13 สถานี ระหว่างสถานีสำโรง ถึงสถานีหัวหมาก จากนั้นจะทยอยเปิดให้ทดลองครบทั้ง 23 สถานี รวมระยะทาง 30.40 กม. ภายในสัปดาห์ที่ 2 ของการเปิดทดลอง ระยะแรกของการทดลองจะให้บริการระหว่าง 6.00-21.00น. จากนั้นจะทยอยขยายเวลาไปถึง 24.00 น.
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BTSC) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ EBM เปิดเผย ว่า วานนี้หารือร่วมกับ รฟม.เตรียมความพร้อมเปิดให้ประชาชนทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในวันพรุ่งนี้
โดยเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีระยะเวลา 30 วัน และ บริษัท คาดหวังว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ที่จะมีการจัดเก็บค่าโดยสารช่วงประมาณวันที่ 1 – 3 ก.ค.2566 แต่ทั้งนี้ ขึ้นกับ รฟม.พิจารณา โครงการมีความพร้อมด้านความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกการเปิดเดินรถจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนลาดพร้าว โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ บีทีเอสได้ยื่นขออนุมัติ จาก รฟม.โดยพิจารณาอัตราราคาที่คำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) 3 เดือนก่อนเปิดให้บริการ ประเมินราคาจัดเก็บเริ่มต้นที่ 15 – 45 บาท ซึ่งราคานี้ตามขั้นตอนจะต้องได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการ รฟม. ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป และคาดจะส่งผลให้ในปีนี้บีทีเอสเริ่มรับรู้รายได้ ในส่วนนี้
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เป็นระบบโมโนเรล เส้นทางผ่านย่านที่อยู่อาศัยและย่านธุรกิจสำคัญๆ คือเริ่มต้นที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว วิ่งไปตามถนนลาดพร้าว จนถึงแยกบางกะปิ และเลี้ยวขวาไปตามถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกศรีนุช ศรีอุดม ศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเทพารักษ์ ไปสิ้นสุดที่จุดตัดถนนสุขุมวิท ที่สถานีสำโรง รูปแบบการลงทุน คือ Public Private Partnership (PPP Net Cost) โดยภาครัฐ (รฟม.) ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนลงทุนค่างานโยธา ระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้ารวมทั้งบริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โดยเอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน ได้แก่ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี ภาครัฐจัดงบประมาณรายจ่ายและกรอบวงเงินสนับสนุนแก่เอกชน เป็นค่างานโยธาในวงเงินไม่เกิน 22,354 ล้านบาท โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มให้บริการเดินรถแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี กำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี. -สำนักข่าวไทย