31 พ.ค. – กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับบริษัทผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต จำนวน 3 แปลง หลังจากที่ประเทศไทยไม่ได้มีการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ใหม่มาเป็นเวลา 16 ปีแล้ว คาดจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยซน์พิเศษประมาณ 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาผลิตปิโตรเลียมได้ในเชิงพาณิชย์ ก็จะสามรถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นกำไรด้วย โดย บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัทย่อยของ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิ 2 แปลง หมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 20,133.87 ตารางกิโลเมตร
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมจะสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แปลงด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่สะสมมาดลอด 38 ปี โดยทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับโครงการของแปลงสำรวจ G1/61 และ G2/61 ที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้สามารถพัฒนาโครงการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้าง ความมั่นคงสร้างประโยชน์ ให้กับประเทศไทยในระยะยาว และการได้รับสิทธิ ครั้งนี้ เป็นไปกลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นการลงทุนในภูมิภาคที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลัก โดยจะเพิ่มโอกาสในการพัฒนา เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วและช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวด้วยว่ากระทรวงพลังงานจะดูแลราคาพลังงานต่อเนื่องในช่วงรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่วนค่าไฟฟ้าผันแปร งวดหน้า เดือน ก.ย.-ธ.ค. นั้นแนวโน้มต้นทุนลดลงทั้งจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจรหรือ Spot LNG ลดลงต่อเนื่อง และ ปตท.สผ. ยังสามารถผลิตก๊าซจากแหล่ง G1/61 หรือเอราวัณเดิมได้ตามเป้าหมาย โดยจะสามารถผลิตเพิ่มขึ้นในเดือนก.ค.เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เดือน ธ.ค. เพิ่มเป็น 600 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน และเดือน เม.ย. เพิ่มเป็น 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วค่าไฟฟ้าจะลดลงมากน้อยเพียงใด ทางคระกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.จะเป็นผู้พิจารณา. – สำนักข่าวไทย