กรุงเทพ 18 พ.ค.-การรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านโครงการไฟฟ้าสีเขียวคาดเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากการขายไฟฟ้าในโครงการนี้ราว 3.42 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี (ราว 1.37 หมื่นล้านบาท/ปี) นอกจากนี้ โครงการไฟฟ้าสีเขียวจะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเกี่ยวเนื่องราว 1.82 แสนล้านบาท
นายพงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตดีในระยะยาว โดยคาดว่า ภายในปี 2569 สหภาพยุโรปจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนกับสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นำเข้าจากผู้ผลิตนอกสหภาพยุโรป เช่น เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ อีกทั้ง ภาครัฐของไทยก็มีแผนที่จะเก็บภาษีคาร์บอนกับภาคเอกชนในอนาคต ซึ่งจะกดดันให้ภาคเอกชนต้องปรับตัว และหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนของสินค้าในอนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เพื่อรับรองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังานสะอาดของภาคเอกชนในระยะข้างหน้า สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในรอบแรก เบื้องต้นคาดว่าจะมีสัญญาซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 25 ปี และรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์รวม 3,362 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น 1) การรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 2,368 เมกะวัตต์ ในราคารับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.17 บาท/หน่วยไฟฟ้า และ 2) ส่วนที่เหลืออีก 994 เมกะวัตต์ จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ในราคารับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.83 บาท/หน่วยไฟฟ้า โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2567-73 นอกจากนั้น โครงการนี้มีแนวโน้มจะทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เป็นระยะเวลา 10-25 ปี พร้อมทั้ง ให้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ซึ่งสามารถใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กับผู้ประกอบการที่ซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ อีกด้วย
โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่กล่าวมาในข้างต้นย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อีกทั้ง ยังช่วยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะยาวอีกด้วย
นายพงษ์ประภา กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ภาครัฐได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวจำนวน 3,362 เมกะวัตต์ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในระยะข้างหน้าราว 1.3 แสนล้านบาท และทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้าในโครงการนี้ราว 1.37 หมื่นล้านบาท/ปี
นโยบายดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ราว 1.28 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 1) โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ราว 7.48 หมื่นล้านบาท และ 2) โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานราว 5.3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น สามารถเพิ่มรายได้ทั้งหมดให้กับธุรกิจดังกล่าวราว 3.42 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้าในโครงการไฟฟ้าสีเขียวที่ 25 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1.37 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 38% ของมูลค่าตลาดโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในปี 2564 โดยแบ่งเป็น 1)รายได้จากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ประมาณ 2.21 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 8.83 พันล้านบาท/ปี และ 2) รายได้จากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานราว 1.21 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4.84 พันล้านบาท/ปี เมื่อโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในโครงการดังกล่าวทั้งหมดสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ตามปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด
เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาคืนทุนของโครงการรับไฟฟ้าสีเขียว พบว่า กลุ่มโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ( BESS) จะใช้เวลาคืนทุน 9.3 ปี และ 9.8 ปี ตามลำดับ เมื่อเทียบกับอายุสัญญาการขายไฟในโครงการดังกล่าวที่ 25 ปี โดยโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั้งสองประเภทมีเงินลงทุนราว 32 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และ 53 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ตามลำดับ และจะมีรายได้จากจากการขายไฟแก่ภาครัฐประมาณ 3.7 ล้านบาท/ปี/เมกะวัตต์ และ 4.9 ล้านบาท/ปี/เมกะวัตต์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี คาดว่า โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับ BESS ในโครงการนี้มีอัตราผลตอบแทน (IRR) อยู่ราว 9.1% ต่อปี และ 7.4% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเคยลงทุน ซึ่งอยู่ประมาณ 10-15% ต่อปี เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั้งสองประเภทในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวอยู่ที่ 2.17 บาท/หน่วยไฟฟ้า และ 2.83 บาท/หน่วยไฟฟ้า ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2559-66 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.97-5.66 บาท/หน่วยไฟฟ้า
การขยายตัวของธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนล่าสุดย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เพราะผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มีแนวโน้มใช้บริการของอุตสาหกรรมดังกล่าวมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะ 7 ปี ข้างหน้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของ Supply Chain ของอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ Krungthai COMPASS มองว่าธุรกิจที่จะเติบโตโดดเด่นจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าเขียวในระยะข้างหน้า มี 4 กลุ่ม ได้แก่
• กลุ่มรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ มีทิศทางเติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม ตามความต้องการใช้บริการติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กลุ่มนี้ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท
• กลุ่มผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อาจได้รับอานิสงส์จากการขายแผงเซลล์แสงอาทิตย์สูงสุด 5.5 หมื่นล้านบาท
• กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น Solar inverter คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มเติมจากการขาย Solar inverter ให้กับผู้ให้บริการติดตั้งและก่อสร้างแก่โรงไฟฟ้าในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวราว 8.7 พันล้านบาท
• กลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ลิเธียม คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการขายแบตเตอรี่ลิเธียมให้กับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ชนะการประมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวราว 2.2 หมื่นล้านบาท.-สำนักข่าวไทย