กรุงเทพ 12 พ.ค.-กรมศุลกากรยื่นหนังสือรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว ที่นำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต หลังกรมศุลกากรจับกุมหมูเถื่อนได้ 4.5 ล้านกิโลกรัม ในช่วงที่ผ่านมา
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรได้ยื่นหนังสือกับ พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รองผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากที่ผ่านมามีการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งหรือหมูเถื่อน เข้ามาในราชอาณาจักรไทย เป็นจำนวนมากถึง 4.5 ล้านกิโลกรัม และเมื่อรวมซากหมูเถื่อนทั้งหมดในช่วงปีเศษที่ผ่านมา จับกุมได้รวมถึง 4.8 ล้านกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีความกังวลใจ เนื่องจากอาจทำให้กลไกตลาดมีความเสียหาย เกิดการระบาดของโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรของประเทศไทย ความมั่นคงทางด้านอาหาร และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสุขอนามัยของผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งซากหมูเถื่อนเหล่านี้จะถูกส่งมาจากประเทศบราซิล สเปน และเดนมาร์ก เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมศุลกากรจึงได้เพิ่มมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทสุกรมีชีวิต เนื้อสุกร และเครื่องในสุกร โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเร่งรัดป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทสุกร เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการสำรวจของค้างบัญชีเรืออยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกำหนดเวลา และได้ทำการสำรวจของค้างบัญชีเรืออยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกำหนดเวลา 30 วัน จึงได้ออกเอกสารบัญชีของค้างบัญชีเรือ โดยไม่มีใบขนสินค้าอันได้รับรองและไม่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น และได้แจ้งไปยังตัวแทนเรือและผู้รับตราส่งตามที่ระบุไว้ในบัญชีเรือ เพื่อให้มีการชำระอากรหรือวางประกันค่าอากรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อครบกำหนดระยะเวลาก็ไม่มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงได้ออกเอกสารบัญชีของค้างบัญชีเรือ และแจ้งไปยังตัวแทนเรือ แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ และทำการเปิดสำรวจ พบสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จากการตรวจสอบพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ กรณีจึงเป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืนมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อันเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัด ตามมาตรา 244 และเป็นของอันพึงต้องริบตามกฎหมายศุลกากร ตามมาตรา 166 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า เพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรภายในประเทศ และป้องกันโรคระบาดสู่ผู้บริโภค กรมศุลกากรจึงขอให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว ในความผิดดังกล่าว เพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย