กรุงเทพฯ 20 เม.ย.-ไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนไอเอ็มเอฟปี 69 ร่วมถกปัญหาเศรษฐกิจ การเงินปัญหาเร่งด่วนของโลกกำลังเผชิญ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุม Spring Meetings ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ระหว่างวันที่ 11 – 12 เมษายน 2566 ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา กระทรวงการคลังเสนอขอเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ ปี2569 จากผู้เสนอ 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เมื่อคณะทำงานสำรวจดูความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ ณ กรุงเทพมหานคร
ที่ประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและ IMF ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ปี 2569 เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดการประชุมในระดับโลกในทุก ๆ ด้าน ทั้งสถานที่จัดการประชุม โรงแรมที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก การคมนาคม สาธารณสุข และความปลอดภัย โดยการประชุมประจำปีฯ ถือว่าเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญที่สุดของโลก มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากประเทศสมาชิกของธนาคารโลก 189 ประเทศ และผู้ว่าการธนาคารกลางจากประเทศสมาชิก IMF จำนวน 190 ประเทศ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรและสถาบันการเงินระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ซึ่งการประชุมใหญ่ประจำปีมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ธนาคารโลก และ IMF ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินของโลก ปัญหาเร่งด่วนที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญอยู่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก การรักษาเสถียรภาพการเงินโลก การขจัดความยากจน การสร้างงาน การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การประชุมประจำปีฯ มีกำหนดจัดในเดือนตุลาคมของทุกปี โดยในปี 2566 ราชอาณาจักรโมร็อกโกจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ และในปี 2567 และ 2568 การประชุมประจำปีฯ จะจัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา และจะเวียนให้ประเทศสมาชิกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทุก ๆ 3 ปี ตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยประเทศไทยได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อปี 2534 ณ กรุงเทพมหานคร
การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ปี 2569 จะเป็นการแสดงบทบาทนำของประเทศไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมทั้งเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศ โดยในช่วงเวลาการประชุมดังกล่าวจะมีการประชุมคู่ขนานต่าง ๆ ที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก กลุ่มประเทศ และสถาบันการเงินชั้นนำระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลกประมาณ 12,000 คน ซึ่งจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องจากการประชุมดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย