กรุงเทพฯ 7 เม.ย.- กลุ่มโรงไฟฟ้าทยอยแจ้งชนะคัดเลือกพลังงานทดแทน กัลฟ์ได้มากที่สุด ด้าน ACE คว้า 112.73 เมกะวัตต์ SUPER 194.5 เมกะวัตต์ UAC แม้พลาดเป้ารอบนี้ก็คาดหวังรอบใหม่ เผยธุรกิจอื่นๆคืบหน้าคาดรายได้ปีนี้โตกว่า 10%
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้จัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก 175 ราย รวมปริมาณการเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์ จากกำหนดรับซื้อทั้งหมด 5,203 เมกะวัตต์ พบว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ชนะการคัดเลือกมากที่สุดกว่า 28 โครงการ ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และพลังงานแสงอาทิตย์ คิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้าเกือบ 2,000 เมกะวัตต์
ส่วนบริษัทที่ชนะการคัดเลือกรองลงมา คือ บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) ได้ 17 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 832.4 เมกะวัตต์
นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE ) เปิดเผยว่า บริษัทย่อยที่ ACE ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 จำนวน 14 บริษัท ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 18 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตเสนอขาย (PPA) รวม 112.73 เมกะวัตต์ คาดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในช่วงปี 67-70 ช่วยส่งเสริมให้เป้าหมายการเพิ่มกำลังผลิตมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ คืบหน้ามากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน ACE ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ที่จะเข้าร่วมประมูลอีกเป็นจำนวนมากซึ่งอยู่ระหว่างรอการเปิดประมูลจากภาครัฐ
ขณะที่การประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียน สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ระยะที่สอง จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ที่ภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มในอนาคตก็มีความสนใจและมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลด้วย
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เปิดเผยว่า บริษัทได้ผ่านการพิจารณาเกณฑ์คัดเลือกเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า จำนวน 19 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 359.487 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายรวม 194.5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับแบตเตอร์รี่ 17 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 315.196 เมกะวัตต์, พลังงานลม 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 40 เมกะวัตต์ และพลังงานจากขยะอุตสาหกรรม 1 โครงการกำลังการผลิตติดตั้ง 4.291 เมกะวัตต์ โดยบริษัทยังคงให้ความสำคัญในการขยายงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยบริษัทวางเป้าหมายปี 66 รายได้ 10,000 -11,000 ล้านบาท หรือเติบโต 10% จากปีก่อน
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนจำนวน 9 บริษัท ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับรัฐบาลตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รวม 339.3 เมกะวัตต์ ทั้งพลังงนลมและแสงอาทิตย์ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตจาก 3,338 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 65 เป็น 4,700 เมกะวัตต์ ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์
นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC กล่าวว่า แม้บริษัทไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบนี้ บริษัทก็พร้อมที่จะรอเข้ารวมโครงการในระยะที่ 2 ที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าราว 3,660 เมกะวัตต์ต่อไป โดยบริษัทเสนอ 6 โครงการ เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 14.25 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ บริษัทคาดมีรายได้รวมในปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 2,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 10-15% จากปีก่อน ขณะที่การเติบโตของกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตตามเป้าหมายเฉลี่ย 20% ต่อปี จากปี 2565 EBITDA อยู่ที่ 241.15 ล้านบาท จากการขับเคลื่อนการลงทุนในธุรกิจเทรดดิ้ง และธุรกิจการผลิตพลังงาน
โดยปี 2566 บริษัทตั้งงบประมาณการลงทุนราว 200-300 ล้านบาท เบื้องต้นมีแผนจะใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนภูผาม่าน จ.ขอนแก่น กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงหญ้าเนเปียร์ 300 ตันต่อวัน แบ่งเป็น 2 หน่วยผลิต หน่วยละ 1.5 เมกะวัตต์ ซึ่งหน่วยแรกคาดว่าจะเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไตรมาส 3 ปีนี้ และหน่วยที่ 2 อีก 1.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ไตรมาส 4 ปีนี้ โดยบริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนในโครงการนี้อีกประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อทำให้โรงไฟฟ้ามีความสมบูรณ์มากขึ้น จากตอนก่อสร้างที่ลงทุนไปแล้วประมาณ 300 ล้านบาท
อีกทั้งหลังจากบริษัท ได้รับสัมปทานจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้เป็นผู้ดำเนินการ (operator) ในกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดิบจากแหล่งปิโตรเลียมหมายเลข L10/43 และ L11/43 จ.สุโขทัย ซึ่งในเดือน ต.ค.2565 บริษัทประสบความสำเร็จจากการขุดเจาะลอตแรกจาก L11/43 สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้มีแผนจะเปิดหลุม L10/43 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 300 บาร์เรลต่อวัน เป็น 500 บาร์เรลต่อวัน เพื่อขายให้กับ ปตท. คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ โครงการจัดการขยะ เพื่อผลิตพลังงานทดแทน และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ที่นำกลับมาใช้ใหม่ที่นครเวียงจันทน์ สปป ลาว ซึ่งเฟสแรกเป็นโครงการบริหารจัดการขยะได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จ และได้ต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะ หรือ RDF3 โดยเซ็นสัญญาขาย RDF3 ให้กับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ใน สปป ลาว กำลังการผลิต 120 ตันต่อวัน คาดว่าจะสร้างเสร็จในเดือน พ.ค.นี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจเทรดดิ้ง ซึ่งเป็นการจำหน่ายสายเคมีอุปกรณ์ และเครื่องจักร โดยบริษัทเดินหน้าขยายฐานลูกค้าทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมและพลังงาน เชิงรุก ทั้งลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ พัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม
ด้าน บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (“WHAUP”) ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เฟส 1 สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์ . – สำนักข่าวไทย