fbpx

ภาคธุรกิจร่วมแชร์ New Era เพื่ออนาคตประเทศไทย

กรุงเทพฯ 23 มี.ค.- ผู้บริหารจากแวดวงธุรกิจ ร่วมถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของธุรกิจ ในงานสัมมนาเศรษฐกิจของไทย New Era Economy อนาคตประเทศไทย จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวของธุรกิจในทุกวันนี้


นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจและพอดแคสต์ 8 บรรทัดครึ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทลูกในกลุ่มเอสซีบีเอกซ์ (SCBX) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น “Robinhood” กล่าว ว่า new era economy หลายเรื่องเกิดขึ้นแล้วในชีวิตของเรา เช่น การมีปฏิสัมพันกับผู้คนในโลกโซเชียล และจากสถิติพบว่า กว่า 80% ของการใช้งานแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ใช้งานอยู่แค่ 3 แอปเท่านั้น และในอนาคตแอปฯบนมือถือจะน้อยลง เพราะมี Super App ปัจจุบันแอปพลิเคชั่นต่างๆ พยายามรวบรวมบริการหลายๆอย่างไว้ด้วยกัน เพื่อให้เป็น Super App โดยก่อนหน้านี้หลายแอปฯ ยอมทุ่มเงินมหาศาล ยอมขาดทุน เพื่อให้คนรู้จักและใช้แอปฯของตัวเองมากขึ้น จากนั้นก็เริ่มมีธุรกิจโฆษณาเข้ามาบนแอปมากขึ้น ในอนาคต Super App จะมีมูลค่าตลาดและบริษัทมากมายมหาศาล นอกจากนี้ เทรนด์ทั่วโลก จะหันไปที่ Sharing Economy มากขึ้น เพราะไม่ต้องการเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ดังจะเห็นได้จากในญี่ปุ่น ที่มีบริษัทให้บริการเช่าผู้คน เช่น เช่าแฟน เช่าลุง เช่าครอบครัว ซึ่งกำลังเติบโตมาก วันนี้อาจจะดูเป็นลักษณะเฉพาะ แต่ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลง และสำหรับเรื่องความยั่งยืน เหมือนเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเช่น รถไฟฟ้า การจ่ายเงินอาจจะจ่ายด้วยคาร์บอน ดังนั้น ช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลง ธุรกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทาย ผู้ที่อยู้รอดคือ ผู้ที่ค้นหา new era

ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า ไทยกำลังเจอความท้าทายในหลายๆด้าน โดยเฉพาะสงคราม ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และส่งผลในระยะยาวถึงการตระหนักถึง supply chain ดังนั้นจึงจะมีการโยกย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ไทยขาดคือ เรื่องนวัตกรรม การพัฒนาคน ความเท่าเทียม รวมถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุ เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งรัฐต้องเข้ามาช่วย และที่สำคัญต้องอาศัยความจริงใจของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน


ปตท.เดินหน้าลงทุนตามวิสัยทัศน์ใหม่ เพื่อขับเคลื่อน New Economy ของประเทศโดยได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์สู่ “Powering Life with Future Energy and Beyond ซึ่ง ปตท. มองว่าธุรกิจที่มีความจำเป็นและมีโอกาสเติบโตได้ คือ ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงาน/แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และไฮโดรเจน

เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เดิมมีการพูดถึงในลักษณะการเป็นอาสาสมัคร แต่ต่อไปจะเป็นกฏหมายบังคับใช้มากขึ้น รวมถึงการกีดกันทางการค้า พลังงานทดแทน จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้ามาช่วย เช่น โฟลตติ้งโซลาร์ และหากจะท้าทายขึ้นไปอีกก็แผงโซลาร์ในทะเล ซึ่งปตท.ก็เริ่มทำบ้างแล้ว โดยตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 12,000 เมกกะวัตต์ภายในปี 2030 ฉนั้นพื้นที่ที่จะดำเนินการก็ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย จะมีไปต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ระบบ certificate การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะแนวโน้มอุตสาหกรรมหลายแบรนด์ ในหลายประเทศเริ่มประกาศ ว่า โรงงานทั่วโลกของเขาจะต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% โดยมีการตั้งแผงโซลาร์นอกโรงงานและมีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม ก็สามารถเคลมได้ว่าเขาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน


“ส่วนเรื่องที่ไทยจะเป็นฐาน EV ทั้งๆที่เป็นฐานผลิตรถสันดาปภายใน อยากเสนอภาครัฐว่า เราต้องดำเนินการตีคู่ไปด้วยกัน เพราะส่วนตัวมองว่า รถ EV ยังไม่สามารถแทนรถยนต์สันดาปได้ทันที เพราะรถยนต์คันหนึ่งเฉลี่ยใช้ได้นานกว่า 6 ปี ดังนั้น รัฐบาลควรทำให้โรงงานของเราเป็นที่สุดท้ายของโลก ทำอย่างไรโรงงานในประเทศไทยจึงจะยังเป็นฐานการผลิต ในขณะที่โรงงานในประเทศอื่นๆปิดแล้ว หรือทำอย่างไรโรงงานผลิตเดิมจึงจะตีคู่ไปกับโรงงาน EV ได้” นายอรรถพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอรรถพล ได้ทิ้งท้ายว่า การจะทำสิ่งใหม่ สิ่งที่ท้าทาย ที่ในไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ต้องมี 3 อย่าง คือ เทคโนโลยี เงินทุน และคน ซึ่งสามารถขับเคลื่อนได้โดย Passion and purpose คือ ต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนจึงจะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิกในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้กล่าวถึง Health & Wellness ประตูบานใหม่เศรษฐกิจไทย ว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทั่วโลกมี 3-4 ธุรกิจที่เติบโตสวนกระแส ประกอบด้วย ธุรกิจ Wellness Real Estate Mental Wellness (ธุรกิจด้านสุขภาพจิต ) ธุรกิจด้านสาธารณสุขและการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารลดน้ำหนัก แต่ธุรกิจที่ตกลงเยอะคือ Wellness Tourism (การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ) เนื่องจากไม่สามารถเดินทางได้ แต่เมื่อกลับสู่ภาวะปกติกลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพจะกลับมาเติบโตตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป และคาดว่า ปี 2567 มูลค่าธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในปี 2568 กลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพจะเติบโตไปถึง 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก แต่มีการใช้ทรัพยากรต่ำกว่ากลุ่มอื่น และเชื่อว่าไทยมีศักยภาพ สามารถชิงตำแหน่งอันดับ 1 เดสติเนชั่นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากยุโรปได้ แต่ต้องเสริมแกร่งและสร้างการรับรู้ด้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การต้อนรับแบบไทย จุดเด่นด้านอาหารสุขภาพ ร่วมกับการเป็นฮับด้านการแพทย์ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น และรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยนักท่องเที่ยวด้านสุขภาพเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีแนวโน้มจับจ่ายสูงถึงเฉลี่ย 6 หมื่นบาทต่อเที่ยว

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ไทยสามารถใช้จุดแข็งจากโครงสร้างพื้นเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้มาก ตลอด 20 ปี WHA สร้างแรงงานได้ 2 แสนตำแหน่ง ดึงการลงทุนกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ในพื้นที่ EEC เกิดการจ้างงาน การผลิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจของนักลงทุนที่มูลค่าโครงการระดับหมื่นล้านบาท แสนล้านบาท เมื่อลงทุนแล้วจะไม่ย้ายออกไปง่าย ๆ

นอกจากนี้ WHA ยังสร้างโครงการ Mission to the Sun เส้นทางก้าวสู่ Tech Company เช่น การทำเรื่อง ESG, Green Logistics, Digital Assets (Metaverse), Digital Health Tech, Circular รวมถึงการพัฒนาบุคลากร สิ่งสำคัญคือ ต้องมอง Global Megatrends ให้ออก จะช่วยให้สามารถวางกลยุทธ์ได้

WHA มองว่าไทยยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะมีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ดีที่สุดในขณะนี้ บุคลากรมีความเชี่ยวชาญ หลายกลุ่มธุรกิจเติบโตมากขึ้นหลังโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมยา ดังนั้น New Era ประเทศไทย จะต้องมี 3 หลักสำคัญ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่สามารถแยกจากกันได้ .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เศร้ารับวันแรงงาน! โรงงานประกาศปิดกิจการกะทันหัน

พนักงานโรงงานผลิตกระจกเก่าแก่ใน อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการฯ จ.สมุทรปราการ ให้นายจ้างจ่ายชดเชยตามกฎหมาย หลังโรงงานติดประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด

“อธิบดีกรมโรงงาน” ลาออกแล้ว ไม่รอเกษียณ 30 ก.ย.นี้

“จุลพงษ์ ทวีศรี” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยื่นหนังสือลาออก ไม่รอเกษียณ 30 ก.ย.นี้ เจ้าตัวเผยน่าจะมีความเหมาะสมที่สุดแล้ว ผู้บริหารจะได้หาคนใหม่มาปฏิบัติหน้าที่แทน

ข่าวแนะนำ

อากาศร้อนจัด “รางรถไฟโก่งคด” ช่วงร่อนพิบูลย์ 

การรถไฟฯ ชี้แจงเหตุรางรถไฟระหว่างสถานีร่อนพิบูลย์ – สถานีชุมทางเขาชุมทองมีลักษณะคดงอ เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด สามารถแก้ไขและเดินขบวนรถได้ตามปกติ

คุมได้แล้วไฟไหม้โกดังสารเคมี-ปิด รพ.ภาชี ชั่วคราว

คุมได้แล้วไฟไหม้โกดังสารเคมี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ด้าน รพ.ภาชี ปิดบริการชั่วคราว เนื่องจากอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ

เตือนพายุฤดูร้อน ฉ.3 ฝนถล่มหลายจังหวัด 3-7 พ.ค.นี้

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือน พายุฤดูร้อนบริเวณไทยตอนบน ฉบับที่ 3 มีผลกระทบ 3-7 พ.ค.67 โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง