ทำเนียบฯ 7 มี.ค.- ประชารัฐสวัสดิการ ยืนยันตัวตน 2.7 ล้านราย แนะผู้ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ เร่งตรวจสอบและแก้ไขข้อมูล ณ ที่ว่าการอำเภอ คลังขอให้แบงก์รัฐเปิดบริการตามเวลาห้างสรรพสินค้า
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การยืนยันตัวตนของผู้รับสิทธิ์ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ณ วันที่ 7 มีนาคม 2566 มีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว 2.74 ล้านราย บางรายยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ เนื่องจากการตรวจสอบสถานะบัตรประจำตัวประชาชนไม่ผ่าน จึงขอให้ผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ ตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และหากตรวจสอบและแก้ไขสถานะบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ขอให้กลับมาดำเนินการยืนยันตัวตนอีกครั้ง ยอมรับการยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ อาจเกิดจากการเปรียบเทียบใบหน้าไม่ผ่าน ขอให้ติดต่อธนาคารกรุงไทย เพื่อยืนยันตัวตนตามขั้นตอนของธนาคารกรุงไทยต่อไป
สำหรับจำนวนผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ณ 7 มีนาคม 2566 จำนวน 700,403 ราย ทั้งนี้ การยืนยันตัวตนของผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ หรือขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนเป็นไปตามวันและเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน โดยการให้บริการในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ คลังกำชับให้สาขาของธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ที่มีสาขาในห้างสรรพสินค้าที่ยังไม่ให้บริการยืนยันตัวตน และยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติ พิจารณาเปิดให้บริการเพิ่มเติมเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดสรรประชารัฐสวัสดิการใหม่ให้แก่ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการฯ ปี 2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน
- วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน
- วงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 750 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสามารถใช้โดยสารได้กับระบบขนส่ง 8 ประเภท ได้แก่ (1) รถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) (2) รถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) (3) รถไฟฟ้า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) (Bangkok Mass Transit System : BTS) รถไฟฟ้ามหานคร (Metropolitan Rapid Transit : MRT) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (4) รถไฟ (5) รถเอกชนร่วม ขสมก. รถเอกชน และส่วนราชการกรุงเทพมหานคร (6) รถเอกชนร่วม บขส. และรถเอกชน (7) รถสองแถวรับจ้าง และ (8) เรือโดยสารสาธารณะ โดยไม่จำกัดวงเงินตามประเภทรถ
- มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า อุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตรฯ) ที่ได้รับสิทธิจะเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด
- มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา อุดหนุนค่าน้ำประปาจำนวน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
กรณีใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ ที่ได้รับสิทธิ ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท และต้องชำระส่วนที่เกิน 100 บาท ด้วยตนเอง แต่หากผู้มีบัตรฯ ได้รับสิทธิมีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ ต้องรับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด
สำหรับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา กระทรวงการคลัง จะชำระค่าบริการ ให้แก่หน่วยงานผู้ให้บริการทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ กฟน. กฟภ. สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ กปน. กปภ. ผู้มีบัตรฯ ไม่จำเป็นต้องชำระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาแต่อย่างใด โดยผู้มีบัตรฯ ที่ประสงค์รับสิทธิ ต้องลงทะเบียนผ่านผู้ให้บริการดังกล่าว ก่อนการเริ่มใช้สิทธิโดยกระทรวงการคลังจะประชาสัมพันธ์วันเปิดรับลงทะเบียนให้ทราบอีกครั้ง .-สำนักข่าวไทย