นนทบุรี 2 มี.ค.-กระทรวงพาณิชย์เผยยอดตัวเลขส่งออกเดือนม.ค.66 ยังหดตัวที่ 4.5% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ยังได้ตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ ขยายตัวเป็นบวกที่ 1-2% โดยหลายหน่วยงาน ประเมินสถานการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้ จะชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่าโอกาสสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับดันตัวเลขคัาชายแดนและผ่านมายังดีอยู่
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขการส่งออกของไทย ในเดือนมกราคม 2566 พบว่า มีมูลค่า 20,249 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดลบ 4.5% เนื่องจากสินค้าส่งออกลดลงในทุกกลุ่ม ทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม จากเงินเฟ้อที่สูง ทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ๆ และสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งภาคการผลิตโลกที่หดตัว กระทบต่อการส่งออกสินค้าทั้งเคมีภัณฑ์และเครื่องจักรกล โดยการส่งออกที่หดตัว ถือเป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ โดยสินค้าที่ยังส่งออกได้ดี เช่น ข้าว บวกถึง 72.3% ไขมันและน้ำมันจากพืขและสัตว์ ขยายตัวถึง 124% ทุเรียนสด โต 53.3% / รวมถึงรถยนต์และส่วนประกอบ กลับมาบวกอีกครั้งที่ 9.2% ส่วนตลาดส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดคือ ซาอุดีอาระเบีย บวก 68.8% รองลงมาคือ อิรัก บวก 57.7%
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มการส่งออกของไทย ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวเศรษฐกิจ และภาวะเงินเฟ้อสูงในประเทศคู่ค้า รวมถึงบรรยากาศตึงเครียดของสงครามทางการค้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่กระทรวงพาณิชย์ มีแผนส่งเสริมการส่งออกตลอดทั้งปี 2566 รวมกว่า 450 กิจกรรมมุ่งเน้นในตลาดศักยภาพ ทั้งตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV และจีน รวมไปถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคเอกชน จึงมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปีนี้ จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายการทำงาน (working target) ที่ตั้งไว้ 1-2%
ขณะที่ตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ในเดือนมกราคม 2566 นั้น โดยสถิติการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 140,166 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.68 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 71,667 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.44 และการนำเข้ามูลค่า 68,499 ล้านบาท ลดลงร้อยละ0.61 โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2566 ทั้งสิ้น 3,168 ล้านบาท โดยเฉพาะการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ(มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา) ในเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 81,555 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 48,018 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.05 และการนำเข้ามูลค่า 33,537 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.92
ขณะที่ การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และอื่นๆ) ในเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่ารวม58,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.47 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 23,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.86 และการนำเข้ามูลค่า 34,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.31 โดยจีนยังเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย มีมูลค่าส่งออกกว่า 11,141 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 40.58 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางและลำไยสด และเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน กระทรวงพาณิชย์ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เร่งผลักดันเปิดจุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้าภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 มีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิด 87 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 74 แห่ง ดำเนินโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก โดยร่วมมือกับ EXIM Bank และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการค้าชายแดน ซึ่ง ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อ1,469 ราย วงเงินรวม 6,211.2 ล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 1,440 ราย วงเงินรวม 6,127.8 ล้านบาท เป็นต้น
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. คาดว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 1 ยังติดลบ 5-10 % และไตรมาส 2 ติดลบไม่เกิน 5 % แต่ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากสินค้าเกษตร ที่ยังส่งออกได้ดี รวมถึงรถยนต์ ที่กลับมาดีเช่นกันสะท้อนว่าปัญหาการขาดแคลนชิป ไม่มีอีกต่อไป เช่นเดียวกับค่าระวางเรือและปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่กลับมาเป็นปกติแล้ว จึงเชื่อว่าในครึ่งปีหลัง การส่งออก จะเริ่มฟื้นตัว จากแรงส่งต่างๆ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และการทำงานร่วมกับภาครัฐ ในการบุกตลาดศักยภาพสูง.-สำนักข่าวไทย