ชลบุรี 24 ก.พ. – ศุลกากรพร้อมตำรวจ ดีเดย์เปิดสำรวจตู้สินค้าคงค้าง ในท่าเรือแหลมฉบังเบื้องต้น พบเนื้อหมูแช่แข็งนำเข้าจากประเทศต้องห้าม-เศษพลาสติก-สารเคมี เตรียมส่งไปทำลาย ด้านคณะทำงานฯ วางเป้าแก้ปัญหาตู้สินค้าตกค้าง จัดพื้นที่ใหม่ภายใน 1 ปี
นายฐิติพงศ์ คำผุย ผู้อำนวยการส่วนบริหารศุลกากร 1 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย พ.ต.อ.สุรพันธ์ มั่นคงดี รองผู้บังคับการ กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมการท่าเรือแห่งประเทศไทย และคณะทำงานโครงการท่าเรือสีขาว ร่วมกันทำพิธีเปิดตู้สินค้าตกค้าง ภายในท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
จากกรณีปัญหามีตู้สินค้าตกค้างจำนวนมากภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บรักษา ค่าเสียโอกาสจากการจัดการใช้พื้นที่จัดเก็บ และปัญหาการจราจรติดขัดในเขตท่าเรือ โดยมีหลายหน่วยงานร่วมเขาเป็นสักขีพยาน เพื่อกำหนดขั้นตอนและหาข้อยุติการตรวจสอบตู้สินค้าทั้งหมด
โดยผลการเปิดตู้สินค้าตกค้าง นำร่องในวันนี้รวม 5 ตู้ พบว่า ตู้ที่ 1 ภายในตู้เป็นสินค้าประเภทปุ๋ย มีการสำแดงเป็นแมกนีเซียมซัลเฟต ตู้ที่ 2 เป็นเศษพลาสติก ไม่มีการสำแดง ขณะที่ตู้ที่ 3 และ 4 เป็นเนื้อหมูแช่แข็งนำเข้าจากประเทศบราซิล ส่วนตู้ที่ 5 เป็นเนื้อหมูแช่แข็งจากประเทศรัสเซีย
ผู้อำนวยการส่วนบริหารศุลกากร 1 เปิดเผยว่า ตู้สินค้าตกค้างทั้งหมด ผู้นำเข้าไม่มาติดต่อทำพิธีศุลกากรภายใน 30 วัน จนกลายเป็นตู้สินค้าตกค้าง อยู่ระหว่างการดำเนินการสำรวจหรืออยู่ในระหว่างการจำหน่าย และบางส่วนเป็นของกลางที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีอาญา ซึ่งตามขั้นตอนกฎหมายมีระยะเวลาดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งการเปิดสำรวจตู้อายัด หรือดำเนินคดี รวมถึงใช้ต้องงบประมาณในการทำลาย
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตู้สินค้าตกค้างทั้งหมดไม่ได้มีเป็น1,000 ตู้ ตามที่มีการรายงานข่าวทางสื่อมวลชนก่อนหน้า แต่มีตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตั้งแต่ปี 2564 เหลือเพียง 342 ตู้ แบ่งเป็นตู้ตกค้างในปี 2564 จำนวน 204 ตู้ ปี 2565 จำนวน 138 ตู้ โดยเป็นตู้ตกค้างที่อยู่ระหว่างการสำรวจหรือดำเนินการจำหน่ายและตู้สินค้าของกลางที่อยู่ในระหว่างการจำหน่ายหรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญา อีกประมาณ 300 ตู้
ขณะที่ล่าสุดเหลือตู้สินค้าตกค้างที่ยังไม่ได้มีการเปิดสำรวจเพียง 64 ตู้ และวันนี้ได้การเปิดสำรวจต่อหน้าสื่อมวลชนรวม 5 ตู้ คาดว่าจะมีการเปิดตู้สำรวจทั้งหมดได้ภายในเดือนมีนาคมนี้
ทั้งนี้ สำหรับสินค้าที่เป็นอาหารแช่แข็งที่ตรวจพบในตู้ครั้งนี้จะถูกส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ ทำลาย ไม่สามารถนำมาจำหน่ายให้ประชาชนได้ ขณะที่สารเคมีหรือพลาสติก จะส่งไปให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.สุรพันธ์ คณะทำงานโครงการท่าเรือสีขาว เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะนำข้อมูลที่ได้หารือร่วมกับคณะทำงานด้านต่างๆ เพื่อหาทางจัดการตู้สินค้าที่ตกค้างภายในท่าเรือแหลมฉบัง โดยเตรียมเสนอให้มีการจัดทำโซนนิ่งตู้สินค้าที่อยู่ระหว่างรอดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 1 ปี.-สำนักข่าวไทย